เหตุผลที่ทำให้คนยุคดิจิทัลติดโซเชียลเน็ตเวิร์ค

เหตุผลที่ทำให้คนยุคดิจิทัลติดโซเชียลเน็ตเวิร์ค

หมวดหมู่: บทความทั่วไปข่าวไอที

ทำไมคนยุคดิจิทัลถึงติดโซเชียล [Thaiware Infographic ฉบับที่ 40] 
"เหรียญย่อมมี 2 ด้าน" และ โซเชียลเน็ตเวิร์ค ก็เช่นกัน เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นช่องทางการสื่อสารที่สะดวกรวดเร็ว ในการติดต่อสื่อสาร และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปสู่คนภายนอกแล้ว โซเชียลเน็ตเวิร์ค ยังจัดว่าเป็นภัยเงียบระดับต้นๆ ที่มีผลต่อมนุษย์โดยตรงเลยก็ว่าได้ 

จากผลการวิจัยของ องค์กรเกี่ยวกับสุขภาพ หรือ นักจิตวิทยา ชั้นนำต่างๆ ได้กล่าวโดยสรุปว่า "การที่คุณติด โซเชียลเน็ตเวิร์ค มากเกินไปมีผลทำให้สุขภาพกาย และสุขภาพใจของคุณแย่ลง เนื่องจากคุณเอาแต่หมกหมุ่นอยู่กับมันเพียงอย่างเดียว" แต่ถึงแม้คุณจะรู้ว่ามันเป็นภัยที่คอยกัดกินคุณภาพชีวิตอยู่ทุกวัน คุณก็ไม่ทราบว่าเพราะอะไรคุณถึงเสพติดมัน ฉะนั้นทางไทยแวร์จึงได้จัดทำ Infographic ฉบับที่ 40 ในหัวข้อที่ว่า ทำไมคนยุคดิจิทัลถึงติดโซเชียล มาให้คุณได้อ่านกัน

เหตุผลที่ทำให้คนยุคดิจิทัลติดโซเชียลเน็ตเวิร์ค 
มีอิสระในการแสดงความรู้สึก - ทุกคนมีอารมณ์ และความรู้สึก ที่ไม่สามารถแสดงออกมาได้ ในสังคมแห่งความเป็นจริงเพราะมันอาจจะทำให้ผิดใจกับคนรอบข้างได้ เช่น หากคุณ เกลียดหัวหน้า / เพื่อนร่วมงาน ก็คงไม่มีใครเดินเข้าไปด่า หรือโวยวายใส่แน่นอน แต่ถ้าเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์ค คุณสามารถระบายสิ่งเหล่านั้น ได้ดั่งใจโดยไม่ต้องเกรงใจใครทั้งสิ้น 

ง่ายต่อการติดต่อสื่อสาร - เดิมทีมนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม ช่างพูด ช่างสื่อสาร และชอบที่จะแบ่งปันเรื่องราวอยู่แล้ว แต่ด้วยก่อนหน้านี้การสื่อสารเป็นสิ่งที่มีราคาสูง และไม่ค่อยสะดวกสบายมากนัก ทำให้มนุษย์เราไม่ค่อยหันมาใช้งานกันมากนัก (ถ้าไม่มีเหตุอันควร) แต่แล้วเมื่อ โซเชียลเน็ตเวิร์ค เข้ามามีบทบาท ทำให้การสื่อสารทั้งในและต่างประเทศง่ายดายขึ้น ค่าใช้จ่ายต่ำลง มนุษย์ยุคดิจิทัลจึงหันมาแบ่งปันเรื่องราว และพูดคุยกับเพื่อน หรือทำความรู้จักกับคนภายนอกมากขึ้น

อยากเป็นที่ยอมรับในสังคมออนไลน์ - โลกแห่งความเป็นจริงที่ไม่สมบูรณ์แบบ และงดงามมากนัก คุณอาจจะรู้สึกว่าตัวตนของคุณ นิสัยของคุณ อาจไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับเท่าไหร่ และด้วยเหตุนี้ คุณจึงเลือกวิธีที่ง่ายที่สุดนั่นคือ สร้างตัวตนใหม่ ขึ้นมา ซึ่งการสร้างตัวตนนั้นอาจจะมาจาก นิสัยจากคนที่นับถือชื่นชอบ หรือ ตัวละครจากนิยาย ภาพยนตร์ เพื่อให้ตนเองรู้สึกเท่, มีคุณค่ามากขึ้น และเมื่อมีคนมาสนใจมากๆ ก็ทำให้ตัวคุณเองรู้สึกว่าได้เป็นที่ยอมรับในสถานที่นั้นแล้ว

ค้นหาสังคมเดียวกัน - คงจะโชคดีไม่น้อย ถ้าหากคนใกล้ตัวคุณมีความสนใจในเรื่องเดียวกัน แต่แท้จริงแล้วในสังคมส่วนใหญ่นั้นไม่ได้โชคดีแบบนั้น โลกออนไลน์ โดยเฉพาะโซเชียลเน็ตเวิร์ค จึงเป็นทางออกง่ายๆ ในการหากลุ่มคนที่มีความสนใจร่วมกัน พูดคุยกันได้อย่างสนุกสนาน 

อัพเดทข่าวสาร - เพื่อให้ติดตามกระแสสังคม หรือก้าวทันการเคลื่อนไหวจากทั่วทุกมุมโลก โซเชียลเน็ตเวิร์ค จึงเป็นช่องทางการสื่อสาร ที่จะช่วยให้คุณสามารถติดตามข่าวสาร และความเคลื่อนไหวของคนที่ชอบ อาทิ ดารา, ศิลปิน หรือ เน็ตไอดอล ได้ตลอดเวลา

โรคที่ตามมาจากการติดโซเชียลเน็ตเวิร์ค 
โนโมโฟเบีย (Nomophobia) - มาจากคำว่า "No Moblie Phone Phobla" บัญญัติขึ้นเมื่อปี 2010 เพื่อให้เรียกอาการทางจิตชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากความวิตกกังวลมากเกินเมื่อขาดโทรศัพท์มือถือ พบมากในกลุ่มอายุ 18-24 ปี ที่เช็กมือถือบ่อยเฉลี่ย 35 ครั้งต่อวัน 

และ เมื่อกลุ่มคนที่เป็นโรค โนโมโฟเบีย (Nomophobia) อยู่ในสถานการณ์ หรือ สถานที่ ที่ไม่สามารถใช้โทรศัพท์มือถือได้ จะมีอาการ หงุดหงิด, กระวนกระวาย, ตัวสั่น, เครียด เหงื่อออก เป็นต้น 

ละเมอแชท (Sleep-Texting) - อาการละเมอแชทสาเหตุหลักๆ มาจากพฤติกรรมติดมือถือมากจนเกินไป จนสมองสร้างความวิตกกังวลต่อข้อความที่ถูกส่งมา ซึ่งผู้ป่วยเป็นโรค ละเมอแชท (Sleep-Texting) จะมีพฤติกรรมตอบสนองต่อเสียงข้อความที่แจ้งเตือนขึ้นมาก และจะไม่รู้สึกตัวขณะที่กดส่งข้อความ เพราะเป็นสภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น 

โรคเศร้าจาก Facebook - ข้อมูลจากวารสารการแพทย์กุมารเวชศาสตร์ อเมริกัน ระบุว่า "ผู้ที่ใช้เวลาอยู่บนเครือข่ายสังคมออนไลน์มากๆ อย่าง Facebook นั้น อาจได้รับความทุกข์ทรมานจาก สภาวะซึมเศร้าบนเฟซบุ๊ค หรือ ที่รู้จักกันในวงการแพทย์ คือ "Facebook Depression Syndrome"

และเหตุที่ทำให้ผู้ใช้ Facebook เกิดสภาวะซึมเศร้า นั่นเพราะ Facebook เป็นสิ่งที่สร้าง ความเป็นจริงจอมปลอม โดยผู้ใช้จะพยายามโพสต์แต่เรื่องราวด้านดีด้านเดียวของชีวิต และหลบซ่อนจากสิ่งเลวร้าย ของตนเอง ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ ผู้ที่เข้ามาชมจะเห็นแต่ภาพชีวิตที่สมบูรณ์แบบของผู้อื่น จนกลายมาเป็นความรู้สึกเปรียบเทียบ และปมด้อยไปในที่สุด

วิธีลดอาการติดโซเชียลเน็ตเวิร์ค 
หางานอดิเรกทำ - เพื่อลดอาการติดโซเชียลเน็ตเวิร์ค คุณควรจะต้องเริ่มมองหากิจกรรมที่ตนชื่นชอบ หรือ สิ่งใหม่ๆ ทำเพื่อสุขภาพกายและใจได้พักผ่อนบ้าง อาทิ ออกไปเที่ยวบ้าง ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ เป็นต้น

จำกัดเวลาเล่นโซเชียล - โซเชียลเน็ตเวิร์ค ก็เหมือนสิ่งเสพติดชนิดหนึ่ง ที่ไม่สามารถเลิกได้ด้วยวิธีหักดิบ ฉะนั้นวิธีง่ายๆ ก็คือ จำกัดเวลาเล่นตามความเหมาะสม และเมื่อร่างกายปรับตัวได้ ก็ค่อยๆ ลดลงมาเรื่อยๆ ซึ่งถ้าหากเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ คุณก็จะสามารถอยู่ได้ทั้งวัน โดยที่ไม่ต้องเข้าหาโซเชียลเน็ตเวิร์ค

และเมื่อเรารู้ถึงอีกด้านหนึ่ง ของช่องทางการสื่อสาร โซเชียลเน็ตเวิร์ค แล้ว ทางทีมงานก็หวังว่าคุณจะนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันของคุณเองไม่มากก็น้อย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

ที่มา:

ไอทีจีเนียส เอ็นจิเนียริ่ง (IT Genius Engineering) ให้บริการด้านไอทีครบวงจร ทั้งงานด้านการอบรม (Training) สัมมนา รับงานเขียนโปรแกรม เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น งานออกแบบกราฟิก และงานด้าน E-Marketing ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ทั้ง SEO , PPC , และ Social media marketting

ติดต่อเราเพื่อสอบถามผลิตภัณฑ์ ขอราคา หรือปรึกษาเรื่องไอที ได้เลยค่ะ

Line : @itgenius (มี @ ด้านหน้า) หรือ https://lin.ee/xoFlBFe
Facebook : https://www.facebook.com/itgeniusonline
Tel : 02-570-8449 มือถือ 088-807-9770 และ 092-841-7931
Email : contact@itgenius.co.th
user
โดย Admin ITGenius
เข้าชม 3,995 ครั้ง

คำค้นหา : คนยุคดิจิทัลโซเชียลเน็ตเวิร์ค ช่องทางการสื่อสารการติดต่อสื่อสาร ข้อมูลข่าวสารองค์กรเกี่ยวกับสุขภาพ นักจิตวิทยาสุขภาพกาย สุขภาพใจคุณภาพชีวิตการแสดงความรู้สึกสังคมออนไลน์ ค้นหาสังคมเดียวกันอัพเดทข่าวสารกระแสสังคม โนโมโฟเบียละเมอแชทโรคเศร้าจาก Facebook จำกัดเวลาเล่นโซเชียล