มะเขือเทศช่วยทำงานในยุคไอที

มะเขือเทศช่วยทำงานในยุคไอที

หมวดหมู่: บทความทั่วไปTip & Technicข่าวไอที

คนส่วนใหญ่บอกว่านี่คือยุคไอทีที่ทำให้เราสะดวกสบายมากขึ้นอย่างที่คนรุ่นก่อนไม่เคยมีมาก่อน แต่เราต้องแลกเปลี่ยนด้วยหลายอย่างเช่นกัน สิ่งหนึ่งที่คนรุ่นก่อนไม่ค่อยได้พบคือ การถูกขัดจังหวะหรือการทำให้วอกแวกด้วยสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เช่น โทรศัพท์มือถือ อีเมล เว็บไซต์ ไลน์ และอื่น ๆ อีกมากมาย ทำให้นักวิชาการหลายคนบอกว่า คนยุคนี้มีสมาธิสั้นลงเรื่อย ๆ ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งใดได้นาน ๆ แล้ว

ความเชื่อที่ผิดอีกอย่างหนึ่งคือ การเชื่อว่าทำงานต่อเนื่องนาน ๆ เป็นระยะเวลาหลายชั่วโมงเป็นสิ่งที่ดี แต่ที่จริงแล้ว การทำงานต่อเนื่องนาน ๆ โดยไม่หยุดพักเลยจะทำให้อ่อนล้าและประสิทธิภาพการทำงานลดลงครับ ดังนั้นจึงมีหนังสือและบทความหลายเรื่องแนะนำว่า หลังจากที่ทำงานได้สักพัก ก็จงหยุดพัก แล้วจึงทำงานต่อ อีกทั้งคนในยุคปัจจุบันนั่งเก้าอี้ทำงานเป็นเวลานาน ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ

มีหลักการทำงานอย่างหนึ่งเรียกว่าเทคนิค Pomodoro อ่านว่า โพโมโดโระ เป็นภาษาอิตาเลียนหมายถึง มะเขือเทศ แนวคิดพื้นฐานเกิดจากการใช้นาฬิกามะเขือเทศที่เป็นนาฬิกาจับเวลาในห้องครัวคือ ตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่เป็นเวลา 25 นาทีและหยุดพัก 5 นาที ดังนั้นในหนึ่งชั่วโมง เราจะทำงานสองช่วงเวลาและหยุดพักสองครั้งครับ และมีรายละเอียดอื่น ๆ เพิ่มเติม แต่สิ่งที่ผมจะเน้นในบทความนี้คือ การทำงานอย่างต่อเนื่องและหยุดเป็นพัก ๆ  

แนวคิดของโพโมโดโระเรียบง่ายและได้รับความนิยมมาก เพราะตรงกับหลักการสองข้อที่ผมกล่าวในข้างบนคือ ตั้งใจจดจ่อทำงานอย่างเต็มที่สลับกับหยุดพัก ทำให้สมองได้พักผ่อน และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น การใช้งานโพโมโดโระก็ง่ายดายมาก ไม่ต้องใช้อุปกรณ์พิเศษอะไร เพราะใช้นาฬิกาที่ทุกคนมีอยู่แล้วมาตั้งเวลา 25 นาทีเท่านั้น

แต่เนื่องจากยุคนี้เป็นยุคไอที การนำหลักการโพโมโดโระไปใช้งานก็ยิ่งง่ายขึ้นอีกคือ แทนที่จะใช้นาฬิกา เราก็ตั้งเวลาบนโทรศัพท์มือถือแทนครับ ปัจจุบันมีผู้พัฒนาแอพโพโมโดโระบนสมาร์ทโฟนจำนวนมาก มีทั้งของฟรีและเสียเงิน และมีประเภทที่เรียบง่ายและสลับซับซ้อน สามารถวิเคราะห์การทำงานได้อย่างละเอียด ผู้อ่านค้นหาในกูเกิลด้วยการใส่ข้อความว่า pomodoro timer ก็จะพบแอพหรือซอฟต์แวร์จำนวนมากครับ ถ้าผู้อ่านต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคนิคโพโมโดโระ ก็เข้าไปดูที่เว็บไซต์ pomodorotechnique.com

ผมได้นำหลักการของโพโมโดโระมาใช้เป็นเวลาหลายเดือนแล้ว และพบว่าเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานครับ ตัวอย่างเช่น ในขณะที่ผมกำลังเขียนบทความ 1001 เรื่องนี้ ผมก็ตั้งเวลาบนสมาร์ทโฟนของผม เมื่อครบเวลา ผมก็หยุดพักครับ เมื่อครบเวลาพัก ก็ทำงานต่อ ทำให้ไม่เหนื่อยล้าจนเกินไป การหยุดพักทำงานก็เป็นเรื่องสำคัญอีกอย่างหนึ่งไม่น้อยกว่าการทำงานครับ จากประสบการณ์ส่วนตัวของผม การหยุดพักที่ดีที่สุดคือ

การหยุดทำงานโดยสิ้นเชิงและเปลี่ยนกิจกรรมไปทำอย่างอื่นที่แตกต่างหรือตรงข้ามโดยสิ้นเชิง เช่น ถ้าเรานั่งทำงานมานาน ก็ควรออกกำลังกายยืดเส้นยืดสาย เช่น แกว่งแขน ฝึกโยคะ หรือเดินเล่น แต่ถ้าใช้ความคิดมานาน ก็หยุดพักด้วยการนั่งสมาธิ มองไกล ๆ หรือดื่มน้ำ ก็ช่วยทำให้ผ่อนคลายมากขึ้นครับ เมื่อหยุดพักจนรู้สึกว่าสดชื่นแล้ว ก็กลับไปทำงานต่อด้วยความตั้งใจ

ถึงแม้ว่าโพโมโดโระจะแนะนำให้ทำงาน 25 นาที หยุดพัก 5 นาที แต่ผมได้ดัดแปลงโพโมโดโระเป็นอัตราส่วน 3 ต่อ 1 คือ ทำงาน 30 นาทีและหยุดพัก 10 นาที หรือสอน 3 ชั่วโมง ก็ต้องหยุดพัก 1 ชั่วโมงซึ่งเหมาะสมกับตัวผมมากกว่าครับ ผู้อ่านอาจปรับเปลี่ยนโพโมโดโระให้เข้ากับสไตล์การทำงานของตนเองก็ได้ครับ สิ่งสำคัญคือ แบ่งการทำงานเป็นช่วง ๆ และหยุดพักสั้น ๆ บ่อย ๆ การทำงานอย่างตั้งใจโดยไม่วอกแวกสลับกับการหยุดพักเป็นระยะ ๆ ก็จะช่วยให้การทำงานในยุคไอทีมีประสิทธิภาพ ให้ผลลัพธ์ตามต้องการ และไม่ทำให้เกิดสภาวะ “แบตหมด” ก่อนเวลาอันควร

ขอบคุณบทความจาก :อ.ธงชัย โรจน์กังสดาล ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Thongchai.R@chula.ac.th“

 

ไอทีจีเนียส เอ็นจิเนียริ่ง (IT Genius Engineering) ให้บริการด้านไอทีครบวงจร ทั้งงานด้านการอบรม (Training) สัมมนา รับงานเขียนโปรแกรม เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น งานออกแบบกราฟิก และงานด้าน E-Marketing ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ทั้ง SEO , PPC , และ Social media marketting

ติดต่อเราเพื่อสอบถามผลิตภัณฑ์ ขอราคา หรือปรึกษาเรื่องไอที ได้เลยค่ะ

Line : @itgenius (มี @ ด้านหน้า) หรือ https://lin.ee/xoFlBFe
Facebook : https://www.facebook.com/itgeniusonline
Tel : 02-570-8449 มือถือ 088-807-9770 และ 092-841-7931
Email : contact@itgenius.co.th
user
โดย Admin ITGenius
เข้าชม 3,893 ครั้ง

คำค้นหา : มะเขือเทศช่วยทำงานในยุคไอทีแนวคิดของโพโมโดโระภาษาอิตาเลียนเทคนิค Pomodoro Pomodoro หมายถึง การทำงานด้านไอที ยุคไอที