เตือนภัยคุกคามออนไลน์ใกล้ตัวที่คุณมองข้าม

เตือนภัยคุกคามออนไลน์ใกล้ตัวที่คุณมองข้าม

หมวดหมู่: บทความทั่วไปข่าวไอที

ส่องเทรนด์สะพรึง! เรื่องราวของภัยคุกคามออนไลน์จากช่องทางต่างๆ ทั้งเว็บไซต์ อีเมล์ แอพพลิเคชั่น และการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ พร้อมโจมตีคุณได้ทุกเวลา แต่ทำไมคนไทยยังมองว่าไกลตัว...

หากพูดถึงเรื่องราวความปลอดภัยบนโลกอินเทอร์เน็ต เชื่อว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยยังมองว่าเป็นเรื่องไกลแสนไกลตัว ไม่มีวันที่เรื่องทำนองถูกเจาะเข้าระบบ ขโมยข้อมูล ล้วงเงินจากบัญชี หรือจะมีใครมาปลอมข้อมูลสวมรอยเป็นฉันได้... คุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเรื่องเหล่านั้นไม่มีทางเกิดขึ้นกับคุณและคนในครอบครัว

ถ้าเราจะบอกว่ามีคนไทยและองค์กรไทย รวมถึงองค์กรต่างๆ ทั่วโลกเป็นจำนวนมากที่ต้องประสบปัญหาความไม่ปลอดภัย ถูกขโมยข้อมูลสำคัญ ตลอดจนถูกยักยอกเงิน คุณจะเชื่อหรือไม่? และนี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่อยู่ไกลตัวคุณอีกต่อไป...! "ไทยรัฐออนไลน์" มีโอกาสเดินทางไปถึงประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อเยี่ยมชมแล็บที่ใช้ติดตามความเคลื่อนไหวบรรดาอาชญากรออนไลน์ พร้อมทั้งรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับเทรนด์การโจมตีบนอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันจาก "เทรนด์ ไมโคร" ผู้ให้บริการความปลอดภัยเครือข่ายชื่อดัง
 

โปรดระมัดระวัง...โจรออนไลน์!!!


เรื่องราวการโจมตีบนอินเทอร์เน็ตนั้นร้ายแรงและใกล้ตัวเข้ามาทุกขณะจริงไหม? หรือเราแค่หลอกคุณ? ลองไปติดตามด้วยตนเอง...

นางสาวไมร่า พิเลา ผู้อำนวยการ ทีม Core Technology ศูนย์เทรนด์แล็บ บริษัท เทรนด์ ไมโคร อธิบายว่า แนวโน้มภัยคุกคามในปัจจุบันนั้นขึ้นอยู่กับเป้าหมายของการโจมตีซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นการโจมตีแบบเจาะจงเพื่อมุ่งหวังผลในรูปแบบต่างๆ

จากความนิยมใช้งานมือถือที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ทำให้มีผู้ตกเป็นเหยื่ออย่างต่อเนื่องเพราะไม่ใส่ใจในเรื่องความปลอดภัย โดยผู้ไม่หวังดีทั้งหลายจะเลือกช่องทางการส่งภัยคุกคามไปสู่ผู้บริโภคจากไลฟ์สไตล์การใช้งานเป็นหลัก เช่น ภัยคุกคามส่วนใหญ่ที่ตรวจพบในประเทศอินเดียก็จะมาจากเนื้อหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับบอลลีวูด ขณะที่ประเทศไทยนั้นจะมาจากบริการโมบายแบงกิ้งและการซื้อสินค้าออนไลน์ ส่วนภัยคุกคามในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ จะพบมากในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกและธนาคาร
 

ไมร่า พิเลา


"รูปแบบการโจมตีของอาชญากรไซเบอร์ในปัจจุบันนั้นไม่ได้พิจารณาจากความสูญเสียของหน่วยงานหรือบริษัทใหญ่ แต่หมายถึงการเข้าถึงผู้บริโภคเพื่อสามารถสร้างความเสียหาย และสิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญก็คือคนส่วนใหญ่ไม่คิดว่าตนเองจะตกเป็นเป้าหมาย คิดว่าการโจมตีเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับองค์กรที่มีเงินหรือข้อมูลสำคัญเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกคนล้วนเป็นเป้าหมายของอาชญากร"

...หลังจากที่เทรนด์ ไมโคร ได้ถือกำเนิดขึ้นเป็นบริษัทด้านซอฟต์แวร์ความปลอดภัย ฟิลิปปินส์... ถูกเลือกให้เป็นศูนย์กลางของเทรนด์แล็บ จากความเหมาะสมในหลายด้าน ทั้งความพร้อมของประชากร ที่ได้เปรียบทางภาษาอังกฤษ เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และเดินทางสะดวก จึงทำให้สถานที่แห่งนี้กลายเป็นสำนักงานใหญ่ของเทรนด์แล็บในที่สุด และมีพนักงานมากถึง 1,200 คน จากจำนวนพนักงานเทรนด์ ไมโครทั่วโลกประมาณ 5,000 คน
 

ออฟฟิศเทรนด์แล็บ ณ ฟิลิปปินส์


สำหรับการปฏิบัติงานของเทรนด์แล็บแห่งนี้... มีหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ภัยคุกคามทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งหากพบว่ามีการโจมตีเกิดขึ้น ก็จะมีขั้นตอนการตรวจสอบพร้อม ทั้งแจ้งเตือนให้ลูกค้าได้ทราบรายละเอียดที่เกิดขึ้น อาทิ รูปแบบการโจมตี กลุ่มที่เสี่ยงจะตกเป็นเป้าหมาย โดยอัพเดทผ่านเว็บเทรนด์ ไมโคร เพื่อเป็นช่องทางให้ลูกค้าทั่วโลกได้รับรู้ถึงสถานการณ์ความเสี่ยงหรือภัยคุกคามที่เกิดขึ้น ส่วนจำนวนเทรนด์แล็บทั่วโลกนั้นมีทั้งสิ้น 13 แห่ง เนื่องจากในอดีตนั้น...การแพร่กระจายไวรัสนิยมทำในรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามภูมิภาคต่างๆ แต่ปัจจุบันกลายเป็นรูปแบบเดียวกันไปทั่วโลก ดังนั้นการทำงานของเทรนด์แล็บแต่ละแห่งในขณะนี้จึงเป็นการตรวจจับไวรัสที่หลากหลาย ขณะเดียวกันก็มีความพร้อมในการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ด้วย

ในอดีต... ไวรัสแพร่กระจายจากการก๊อบปี้แบบไฟล์ต่อไฟล์ ต่อมาคือยุคของเวิร์ม ซึ่งใช้การแพร่กระจายผ่านเครือข่ายโดยไม่ต้องทำงานผ่านตัวเครื่องจึงถือเป็นยุคแรกของไวรัสเครือข่าย ต่อมาคือยุคที่เรียกว่าเว็บเทรดซึ่งเป็นการแพร่มัลแวร์ผ่านเว็บแบบพุ่งเป้าเพื่อหารายได้จากการโจมตี มีการอาศัยโซเชียลเน็ตเวิร์กเพื่อกระจายรูปแบบการโจมตีดังกล่าว จนมาสู่ยุคปัจจุบันที่เป็นการโจมตีแบบเฉพาะเจาะจง แล้วแนวโน้มภัยคุกคามที่เกิดขึ้นในประเทศไทยล่ะ... คุณสงสัยไหมว่าเป็นอย่างไร?
 

สตอเรจเหล่านี้ กักไวรัสออนไลน์ไว้เป็นจำนวนมหาศาล


"ในปี 2014 เราพบการเข้าถึงเว็บไซต์ที่เป็นอันตรายกว่า 24 ล้านครั้งในประเทศไทย และมีมัลแวร์มากกว่า 9 ล้านรูปแบบ" นางสาวแม็กกี้ ครูซ หัวหน้าทีม Security Focus ศูนย์เทรนด์แล็บ บริษัท เทรนด์ ไมโคร เล่าและบอกอีกว่า ในช่วงปีที่ผ่านมายังแสดงถึงจำนวนการคลิกเข้าไปถึงเว็บลวงต่างๆ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี ยังพบว่ามีอุปกรณ์ประเภทโมบายล์ถูกโจมตีถึงกว่า 2.3 ล้านครั้งอีกด้วย

ระวังกลโกง โจรเรียกค่าไถ่!!!
นางสาวแม็กกี้ ยังบอกด้วยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและกลายเป็นแนวโน้มที่น่าสนใจไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย คือ การโจมตีแบบเข้ารหัสข้อมูลและทำการเรียกค่าไถ่ หรือที่เรียกว่า Ransomware ซึ่งกรณีนี้เกิดขึ้นแล้วกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อทั้งแบบองค์กรและผู้ใช้ทั่วไป จากช่องทางอันตรายอย่างอีเมล์และเว็บไซต์ โดยผู้ที่ถูกไวรัสประเภทดังกล่าวทางคอมพิวเตอร์... จะปรากฏหน้าจอแจ้งว่าข้อมูลภายในเครื่องของคุณถูกล็อก คุณจำเป็นต้องจ่ายค่าไถ่ตามที่ถูกเรียกร้องเพื่อแลกกับข้อมูลทั้งหมดภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งหากคุณไม่ปฏิบัติตามข้อมูลดังกล่าวจะถูกลบและไม่สามารถกู้คืนได้อีก ซึ่งที่ผ่านมามีทั้งผู้ที่ยอมจ่ายเงินตามจำนวนค่าไถ่หลักแสนบาทเพื่อแลกกับข้อมูลสำคัญ ขณะที่บางรายไม่ยอมจ่ายค่าไถ่และต้องสูญเสียข้อมูลไป
 

แม็กกี้ ครูซ


วายร้ายตัวท็อป!!!
ส่วนไวรัสที่พบได้บ่อยที่สุดในช่วงปีที่ผ่านมามีชื่อว่า... Downad , Gamarue , Sality ซึ่งส่วนใหญ่มาจากช่องโหว่บนระบบปฏิบัติการวินโดวส์ เอ็กซ์พี เนื่องจากผู้ใช้จำนวนไม่น้อยยังคงใช้ระบบปฏิบัติการเดิม ไม่อัพเกรดเป็นระบบใหม่ หรือใช้งานซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ จึงทำให้มีช่องโหว่ในการใช้งานหรือเกิดรูรั่วให้ไวรัสเข้าถึงได้

แอนดรอยด์ เป้านิ่งโจร!!!
จากความนิยมในอุปกรณ์ระบบแอนดรอยด์ ส่งผลให้มีจำนวนเครื่องและผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างมากนั้น ส่งผลให้อาชญากรออนไลน์ใช้ช่องโหว่จากการเป็นระบบปฏิบัติการแบบเปิดนี้เป็นโอกาสในการโจมตี จากทั้งการสร้างแอพพลิเคชั่นปลอมและเว็บไซต์ลวงต่างๆ เพื่อกระจายไวรัส โดยมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2015 อาจมีจำนวนรูปแบบไวรัสบนแอนดรอยด์มากถึง 8 ล้านรูปแบบ หรือเพิ่มขึ้นจากเดิมราวเท่าตัว ส่วนระบบปฏิบัติการแบบปิดอย่างไอโอเอส ซึ่งในอดีตมีความเชื่อว่าสามารถป้องกันภัยคุกคามออนไลน์นี้ได้ ก็เริ่มถูกโจมตีบ้างแล้วในสหรัฐอเมริกา
 

แค่ 5 ขั้นตอน ที่อาชญากรสามารถรีดเงินจากคุณ เพื่อแลกกับข้อมูลสำคัญ


เทรนด์โจรปี 2015
เนื่องจากสมาร์ทโฟนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน จึงมีการคาดการณ์ว่าในปีนี้เราจะได้เห็นรูปแบบการโจมตีผ่านแอพพลิเคชั่นมากกว่าเว็บไซต์ ขณะเดียวกันบรรดาแฮกเกอร์ก็จะยิ่งพัฒนารูปแบบกลลวงต่างๆ เพื่อเข้าถึงระบบซอฟต์แวร์แบบเปิดมากขึ้น โดยใช้รูปแบบที่คล้ายกันในการเข้าถึงเนื่องจากระบบในลักษณะดังกล่าวจะมีผู้นิยมใช้งานเป็นจำนวนมาก

วิธีป้องกันภัยโจรออนไลน์...
เบื้องต้นคุณควรเริ่มต้นจากการใช้งาน คือ เลี่ยงการคลิกลิงก์ที่น่าสงสัย เช่น ไม่รู้ที่มาที่แน่ชัด มีภาพหรือหัวข้อส่อไปในทางลามก อนาจาร หรือมีความรุนแรง หากใช้งานอีเมล์ก็ควรตรวจสอบชื่อผู้ส่ง รวมถึงเนื้อหาและไฟล์โดยละเอียด ขณะเดียวกันก็ควรอัพเดตซอฟต์แวร์ให้ทันสมัยอยู่ตลอด และทำการแบ็ดอัพข้อมูลสำคัญเอาไว้ด้วย

เมื่อคุณรู้ว่ามีความเสี่ยงเปิดประตูเชิญชวนให้ตกหลุมพราง อยู่รอบตัว... ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณแล้ว ว่าจะยอมรับความเสี่ยงเหล่านั้นเข้ามาในชีวิตหรือไม่...?
 

ตัวอย่างไวรัสเรียกค่าไถ่

 

 

 

 

ที่มา https://www.thairath.co.th

ไอทีจีเนียส เอ็นจิเนียริ่ง (IT Genius Engineering) ให้บริการด้านไอทีครบวงจร ทั้งงานด้านการอบรม (Training) สัมมนา รับงานเขียนโปรแกรม เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น งานออกแบบกราฟิก และงานด้าน E-Marketing ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ทั้ง SEO , PPC , และ Social media marketting

ติดต่อเราเพื่อสอบถามผลิตภัณฑ์ ขอราคา หรือปรึกษาเรื่องไอที ได้เลยค่ะ

Line : @itgenius (มี @ ด้านหน้า) หรือ https://lin.ee/xoFlBFe
Facebook : https://www.facebook.com/itgeniusonline
Tel : 02-570-8449 มือถือ 088-807-9770 และ 092-841-7931
Email : contact@itgenius.co.th
user
โดย Admin ITGenius
เข้าชม 4,506 ครั้ง

คำค้นหา : ภัยคุกคามออนไลน์เทรนด์ ไมโครการโจมตีบนอินเทอร์เน็ตความปลอดภัยบนโลกอินเทอร์เน็ตแนวโน้มภัยคุกคาม