ไฮเทคของเทคปีลิง

ไฮเทคของเทคปีลิง

หมวดหมู่: บทความทั่วไปข่าวไอที

เทคปีลิง (5) มุมมองใหม่ไอที 
คำทำนายทายทักของบริษัทการ์ดเนอร์ (Gartner) ที่ปรึกษาระดับโลก หน่อสุดท้ายของสามสหายไฮเทคของเทคปีลิง คือมุมมองใหม่ไอที (New IT Reality)

ย่อยมาถึงตอนสุดท้ายแล้ว สำหรับคำทำนายทายทักของบริษัทการ์ดเนอร์ (Gartner) ที่ปรึกษาระดับโลก หน่อสุดท้ายของสามสหายไฮเทคของเทคปีลิง คือมุมมองใหม่ไอที (New IT Reality) ดังรูป ซึ่งมีสี่ด้านคือ ป้องภัยใส่ใจ (Adaptive Security Architecture) ระบบขั้นเทพ (Advanced Systems Architecture) แหแห่งบริการ (Mesh App & Service Architecture) และเน็ตสิ่งของ (IoT Architecture & Platforms) 

ป้องภัยใส่ใจ การป้องภัยให้กับระบบไอทีนั้นต้องใส่ใจอย่างมาก ไม่ใช่ลงโปรแกรมตรวจจับไวรัสแล้วก็เป็นอันเสร็จ ในระบบใหญ่ ๆ นั้นตอนนี้ต้องหันพึ่งวิธีป้องกันที่ปรับตัวได้ตามสภาพ โดยเริ่มจาก เดาใจผู้ร้าย สกัดปิดป้อง ตรวจจับการบุกรุก ตอบโต้ทันควัน ในการนี้ต้องอา ศัยระบบอัตโน มัติคอยตรวจสอบพฤติกรรมของผู้คนและอุปกรณ์ต่าง ๆ ว่าทำอะไรผิดวิสัยหรือไม่ เช่น ผู้จัดการต่อเน็ตเข้ามาตอนตีสามจากรัสเซีย แบบนี้ใช้คนทำไม่ทันกินครับ ต้องระบบอัตโนมัติเป็นหมาเฝ้าบ้านลูกเดียว 
นอกจากนั้นต้องรู้จักเขียนแอพที่ป้องกันตัวเองได้ในระดับหนึ่งด้วย เช่น ตรวจสอบว่าไม่น่าจะมีการใช้งานหลังเที่ยงคืน หากมีใครมาใช้ก็ให้เตือนไปที่ผู้ดูแลระบบ เพราะใครจะมารู้ใจดีกว่าคนเขียนแอพจริงไหมครับ 

ระบบขั้นเทพ คอมพิวเตอร์ปัจจุบันยังคงใช้โครงสร้าง (หรือที่เรียกว่าสถาปัตยกรรม) แบบโบราณดั้งเดิมที่ คุณจอห์น วอน นอยแมน (John von Neumann) เขาออกแบบไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2488 คือ ตั้งแต่เรา ๆ ท่าน ๆ ยังไม่เกิดกันเลย มีปรับปรุงเพิ่มเสริมบ้าง เช่นเป็นควอดคอร์ คือ มีหลายหัว ตอนนี้ก็ถึงยุคที่ต้องออกแบบขั้นพื้นฐานกันใหม่ เช่น เป็นระบบที่เลียนแบบเซลล์ประสาทของคน หรือใช้ระบบ ควอนตัมแบบหลุดโลกไปเลย 

แหแห่งบริการ พัฒนาการด้านไอทีทำให้ระบบอุปกรณ์สิ่ง ของรอบตัวเริ่มฉลาดขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้เลยมีแนวคิดว่าการให้บริการในเน็ตจะทำโดยบรรดาสิ่งของกระจุกกระจิกเหล่านี้มาช่วย ๆ กันประกอบร่างเป็นบริการใหญ่โต โดยไม่ต้องง้อระบบใหญ่ ๆ ราคาแพง ๆ แบบเดียวกับตัวต่อเลโก้ที่เอาชิ้นส่วนเล็ก ๆ แต่ต่อกันได้ มาต่อเป็นปราสาทราชวัง ยานอวกาศ นครใหญ่โตได้ องค์ประกอบหนึ่งของระบบคือการที่แอพสามารถจะย้ายถิ่นฐานจากเครื่องหนึ่งไปอีกเครื่องหนึ่งได้โดยสะดวก ซึ่งมีแนวทางแบบเดียวกับระบบตู้ส่งสินค้าคอน เทเนอร์ คือ เอาสินค้า (โปรแกรม) ใส่ในตู้ แล้วจะขนไปทางไหนอย่างไรก็ทำได้สะดวก ไม่ว่าจะทางเรือ ทางเครื่องบิน หรือรถบรรทุกรถไฟ เพราะเป็นมาตรฐานเดียวกันหมดทั้งโลก 

ตัวจักรสำคัญของแหแห่งบริการตัวหนึ่งคือ ที่เรียกว่าการให้บริการแบบคลาวด์ หรือหมู่เมฆ (cloud service) ซึ่งหลายตัวก็เป็นที่รู้จักกันดี เช่น Hotmail Line Facebook Dropbox เหล่านี้เป็นบริการแบบเมฆทั้งสิ้น คืออาศัยเน็ตไปใช้บริการที่ฝังตัวอยู่ในเน็ตนั่นเอง โปรแกรมบนเครื่องของเราเป็นเพียงตัวแทนหรือนายหน้าเล็ก ๆ แต่ข้อมูลต่าง ๆ นั้นไปอยู่ที่คลาวด์ทั้งสิ้น 

เน็ตสิ่งของ เมื่อเอาสิ่งของอุปกรณ์ต่าง ๆ มาต่อเชื่อมกันมากเข้า ก็จะพบปัญหาสำคัญคือคุยกันไม่ค่อยได้ ตัวอย่างที่ชัดมากคือการปีนเกลียวระหว่างค่ายหน้าต่าง (Microsoft) ค่ายผลไม้ (Apple) และค่ายอากู๋ (Google) จะคุยกันก็ต้องผ่านแอพที่เป็นกลาง ๆ อย่างไลน์ ที่พยายามเจรจาประสานสิบทิศกับค่ายต่าง ๆ ดังนั้นหลักสำคัญที่นักไอทีต้องตระหนักไว้ให้ดีคือที่เรียกว่า architectural debt หรือหนี้สินทางสถาปัตยกรรม หมายความว่า หากพัฒนาหรือจัดซื้อระบบที่มีแนวทางประหลาดไม่มาตรฐานเข้ากับชาวบ้านเขาไม่ค่อยจะได้ ยิ่งอนาคตนานไปก็จะติดแหง่กอยู่กับเจ้าประจำนั้น จะปรับเปลี่ยนเป็นยี่ห้ออื่น แบบอื่น หรือสถาปัตยกรรมอื่น ก็ต้องลงทุนกันมโหฬาร หลาย ๆ เจ้าถึงกับร่อแร่และล้มละลายไปเลยทีเดียว เพราะตามเทคโนโลยีไม่ทัน ส่วนมากที่พบเห็นกันคือ บริษัทต่าง ๆ จะพัฒนาให้สินค้าของตนมีลูกเล่นเด่นเหนือคู่แข่ง แบบนี้เรียกว่าสินค้าเฉพาะเจ้าหรือ proprietary product ซึ่งทำให้ผูกโยงกับเจ้าอื่นได้ไม่ดี เมื่อเน็ตสิ่งของนี้กระจายแพร่หลายออกไปมาก ๆ เข้า ความโดดเด่นของลูกเล่นเหล่านั้นจะย้อนกลับมากัดผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากบริษัทผู้ผลิตเกิดหงายท้องไป 

ก็เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนความ ห้าตอนแห่งเทคโนโลยีปีวานรครับ หากสนใจก็ลองถามนักไอทีใกล้ตัว หากเขาตอบไม่ได้ก็ไล่ให้ไปทำการบ้าน จะได้ตามเทคได้ทันนะครับ

ที่มา:

ไอทีจีเนียส เอ็นจิเนียริ่ง (IT Genius Engineering) ให้บริการด้านไอทีครบวงจร ทั้งงานด้านการอบรม (Training) สัมมนา รับงานเขียนโปรแกรม เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น งานออกแบบกราฟิก และงานด้าน E-Marketing ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ทั้ง SEO , PPC , และ Social media marketting

ติดต่อเราเพื่อสอบถามผลิตภัณฑ์ ขอราคา หรือปรึกษาเรื่องไอที ได้เลยค่ะ

Line : @itgenius (มี @ ด้านหน้า) หรือ https://lin.ee/xoFlBFe
Facebook : https://www.facebook.com/itgeniusonline
Tel : 02-570-8449 มือถือ 088-807-9770 และ 092-841-7931
Email : contact@itgenius.co.th
user
โดย Admin ITGenius
เข้าชม 3,024 ครั้ง

คำค้นหา : บริษัทการ์ดเนอร์ (Gartner)มุมมองใหม่ไอที (New IT Reality) ป้องภัยใส่ใจ (Adaptive Security Architecture) ระบบขั้นเทพ (Advanced Systems Architecture)แหแห่งบริการ (Mesh App & Service Architecture) เน็ตสิ่งของ (IoT Architecture & Platforms) การป้องภัยให้กับระบบไอทีโปรแกรมตรวจจับไวรัสคุณจอห์น วอน นอยแมน ระบบที่เลียนแบบเซลล์ประสาทของคน