ttb รายได้ดอกเบี้ยลด กำไรไตรมาสวูบ

ttb รายได้ดอกเบี้ยลด กำไรไตรมาสวูบ

หมวดหมู่: บทความทั่วไปTip & Technic

ttb รายได้ดอกเบี้ยลด กำไรไตรมาสวูบ


นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก  ซึ่งกำไรสุทธิในไตรมาส 2 ปีนี้ ลดลง 2% จากไตรมาสก่อน และลดลง 7% จากไตรมาส 2 ปี 2567 ซึ่งการลดลงดังกล่าว มีสาเหตุหลักจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลงตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย และสะท้อนผลจากการปรับลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือลูกค้าภายใต้โครงการต่าง ๆ เช่น “คุณสู้ เราช่วย”

ซึ่ง ณ สิ้นไตรมาส 2 มีลูกค้าทั้งรายย่อยและ SMEs เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 54,000 ราย หรือคิดเป็นยอดสินเชื่อราว 31,000 ล้านบาท

หากมาดูรายได้จากดอกเบี้ยสุทธิ ไตรมาส 2/2568 ลดลง 3.6% จากไตรมาสก่อน (QoQ) จากอัตราผลตอบแทนที่ลดลงตามการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย และการลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือลูกค้าส่งผลให้รายได้จากการดำเนินงานรวมอยู่ที่ 16,381 ล้านบาท ในไตรมาส 2 ปี 2568 ชะลอลง 1.0% QoQ และรายได้จากการดำเนินงานรวม 6 เดือน อยู่ที่ 32,934 ล้านบาท ลดลง 6.0% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YoY)  

ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในไตรมาส 2 ปี 2568 ปรับตัวดีขึ้น 9.1% จากไตรมาสก่อน (QoQ) มาจากการฟื้นตัวของรายได้ค่าธรรมเนียมแบงก์แอสชัวรันส์จากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ และรายได้อื่น ๆ เช่น เงินปันผล  

สำหรับการดูแลคุณภาพสินทรัพย์ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ทีทีบี สามารถควบคุมอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL ratio) ให้ทรงตัวที่ 2.6%-2.7% และนับตั้งแต่วิกฤตโควิด-19 ธนาคารสามารถลดยอดหนี้เสียได้ราว 12% จากประมาณ 44,000 ล้านบาท มาอยู่ที่ระดับ 39,000 ล้านบาท โดยเน้นการบริหารจัดการเชิงรุกในการแก้หนี้เสีย รวมถึงการปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ ส่งผลให้อัตราการผิดนัดชำระหนี้ลดลงและพอร์ตสินเชื่อมีคุณภาพดีขึ้น 
 
ขณะที่ทางด้านเงินฝากในไตรมาส 2 /68 อยู่ที่ 1,289 พันล้านบาท ลดลง 0.7% กับไตรมาส 1 /2568 (QoQ) และ 3.0% ตั้งแต่ต้นปี (YTD) สอดคล้องกับทิศทางสินเชื่อ และเป็นไปตามแผนบริหารสภาพคล่อง โดยการลดลงส่วนใหญ่มาจากกลุ่มเงินฝากประจำระยะยาวที่ครบกำหนด และจากการปรับกลยุทธ์เชิงผลิตภัณฑ์เพื่อขยายฐานลูกค้า Wealth ส่งผลให้เงินฝากกลุ่มบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศและเงินฝากไม่ประจำ ttb no-fixed ขยายตัวได้ดี

สำหรับช่วงที่เหลือของปี ธนาคาร จะยังคงเน้นย้ำการดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบ เพื่อรักษาเสถียรภาพและความแข็งแกร่งทางการเงินควบคู่กับการบริหารจัดการด้านต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาความสามารถในการกำไร  

ส่วนการตั้งสำรองแบงก์ได้ตั้งสำรองฯ จำนวน 4,294 ล้านบาท ในไตรมาส 2 ปี 2568 ลดลง 6.2% QoQ รวม 6 เดือน ตั้งสำรองฯ ทั้งสิ้น 8,874 ล้านบาท ลดลง 14.6% จากปีก่อนหน้า โดยหนี้เสียอยู่ที่ 39,164 ล้านบาท ลดลง 0.9% QoQ และอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพลดลงมาอยู่ที่ 2.73% อย่างไรก็ดี แม้ตั้งสำรองฯ ลดลง แต่อัตราส่วนสำรองฯ ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพยังคงทรงตัวในระดับสูงที่ 149%

สำหรับฐานะเงินกองทุน ไตรมาส 2 ปี 2568 มีอัตราส่วนเงินกองทุนรวม (CAR) และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tier 1) อยู่ที่ 20.0% และ 17.8% ตามลำดับ สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารกลุ่ม D-SIBs ที่ธปท.กำหนดไว้ที่ 12.0% สำหรับ CAR และ 9.5% สำหรับ Tier 1  

และด้วยฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง ธนาคารมั่นใจว่าจะสามารถคงอัตราการจ่ายเงินปันผลในระดับสูงได้แม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดก็ตาม ขณะที่ประเมินว่าโครงการซื้อหุ้นคืน 3 ปี วงเงิน 21,000 ล้านบาท จะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนในตลาดทุนที่มีต่อมูลค่าของผู้ถือหุ้นได้เช่นกัน

รวม 6 เดือนแรกของปี 2568 มีกำไรสุทธิ 10,100 ล้านบาท ลดลง 6.2%
รวม 6 เดือนแรกของปี 2568 มีกำไรสุทธิ 10,100 ล้านบาท ลดลง 6.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ท่ามกลางการชะลอตัวของรายได้ การบริหารจัดการด้านต้นทุนที่ดี ผ่านการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินและการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพยังเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยหนุนผลประกอบการได้

อย่างไรก็ตามส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย (NIM) ในครึ่งปีแรกคิดเป็น 3.13% ยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 3.10-3.25% แม้ว่าอัตราผลตอบแทนการให้ สินเชื่อจะได้รับแรงกดดันทั้งจากภาวะอัตราดอกเบี้ยและโครงการช่วยเหลือลูกค้า ต้นทุนทางการเงินสามารถปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากแผนการบริหารเงินฝากและเงินกู้ยืมในเชิงรุก ช่วยลดผลกระทบเชิงลบบน NIM

เศรษฐกิจไตรมาส 2 ยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

นายปิติ ยังบอกด้วยว่า ภาวะเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ส่วนไตรมาส 3 ภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า จากกิจกรรมในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวทั้งการ บริโภคและการลงทุนรวม เช่นเดียวกับมูลค่าการส่งออกสินค้าที่คาดว่าจะเติบโตชะลอลงหลังผู้ประกอบการเร่งส่งออกสินค้าไปแล้วตั้งแต่ช่วงครึ่งแรกของปี เพื่อลดความเสี่ยงจาก ความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า

คาดเศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำกว่า 2%

ทั้งนี้ ttb analytics ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำกว่า 2% จากความไม่ แน่นอนสูงจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะนโยบายการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่ามีแนวโน้มเคลื่อนไหวใกล้เคียงกรอบล่างของเป้าหมาย ด้านภาคการท่องเที่ยว ประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยทั้งปี 2568 มีแนวโน้มหดตัวจากปีก่อนหน้าจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ค่อนข้างต่ำ ภายใต้บริบทที่มีความไม่แน่นอนสูงรอบด้านและขีดความสามารถของนโยบายการเงิน (Policy Space) มีเริ่มมีข้อจำกัดมากขึ้น จึงประเมินว่า กนง. จะสามารถลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายช่วงที่เหลือของปีได้อีกอย่างน้อย 2 ครั้ง สู่ระดับ 1.25% ณ สิ้นปี ด้านค่าเงินบาทในไตรมาสที่ 3 ปี 2568 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 32.00-33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นไตรมาส


ที่มา: pptvhd36.com/wealth/monetary/252892

ไอทีจีเนียส เอ็นจิเนียริ่ง (IT Genius Engineering) ให้บริการด้านไอทีครบวงจร ทั้งงานด้านการอบรม (Training) สัมมนา รับงานเขียนโปรแกรม เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น งานออกแบบกราฟิก และงานด้าน E-Marketing ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ทั้ง SEO , PPC , และ Social media marketting

ติดต่อเราเพื่อสอบถามผลิตภัณฑ์ ขอราคา หรือปรึกษาเรื่องไอที ได้เลยค่ะ

Line : @itgenius (มี @ ด้านหน้า) หรือ https://lin.ee/xoFlBFe
Facebook : https://www.facebook.com/itgeniusonline
Tel : 02-570-8449 มือถือ 088-807-9770 และ 092-841-7931
Email : contact@itgenius.co.th

แนะนำหลักสูตรอบรมที่น่าสนใจ

user
โดย Bella
เข้าชม 51 ครั้ง

คำค้นหา : นโยบายการเงินรายได้ดอกเบี้ยคุณสู้เราช่วยเฟส 2ปรับลดดอกเบี้ยภาวะเศรษฐกิจดอกเบี้ยสุทธิหนี้เสียเงินฝากไม่ประจำกองทุนรวมภาษีสินค้านำเข้า