ถึงเวลาหาจุดขายใหม่แล้วสำหรับงานไอทีเทรดโชว์

ถึงเวลาหาจุดขายใหม่แล้วสำหรับงานไอทีเทรดโชว์

หมวดหมู่: บทความทั่วไปSoftware ReviewHardware ReviewTip & Technicข่าวไอที

ในอดีตงานมหกรรม "ไอที-โมบาย" ในรูปแบบเทรดโชว์ ที่รวบรวมร้านค้าไว้มากมายในพื้นที่เดียวกัน เป็นที่รอคอยของทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค มีผู้เข้าร่วมงานล้นทะลัก แต่ในช่วง 2-3 ปีหลังนี้ความตื่นเต้นและจำนวนผู้เข้าร่วมงานน้อยลง 

เศรษฐกิจฝืดฉุดกำลังซื้อ
     "โอภาส เฉิดพันธุ์" ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็ม วิชั่น จำกัด ผู้จัดงานไทยแลนด์ โมบาย เอ็กซ์โป เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภาพรวมของงานมหกรรมจำหน่ายโทรศัพท์มือถือยังมีแนวโน้มที่ดี ผ่านการลงทุนของผู้ผลิตเครื่องแบรนด์ต่าง ๆ และผู้บริโภคที่เข้ามาซื้อสินค้าภายในงาน แต่ปัจจุบันกำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่กลับมาสู่สภาวะปกติ อาจทำให้ในงานครั้งที่จะจัดในเดือน พ.ค. และ ต.ค.มีความเป็นไปได้ที่จะไม่คึกคัก แม้ในงานครั้งแรกที่จัดในเดือน ก.พ.จะมียอดเงินสะพัด 1.5 พันล้าน มากกว่าเป้า 10% 

"ถึงงานต้นปีทำได้ทะลุเป้า แต่อีกสองครั้งที่เหลือคงยาก เพราะสภาพเศรษฐกิจที่แทบไม่มีปัจจัยบวกให้กำลังซื้อกลับมาเป็นปกติ ทั้งผู้ผลิตและดีลเลอร์อาจลดสัดส่วนงบประมาณในการออกบูท แต่คงไม่ถึงขั้นไม่ร่วมงาน เพราะมีพื้นที่ในงานไอทีเทรดโชว์ ถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ดีลเลอร์ในการทำตลาด ส่วนเอ็ม วิชั่นเองเมื่อเห็นปัจจัยนี้จึงตั้งเป้างานไทยแลนด์ โมบาย เอ็กซ์โปในเดือน พ.ค. แค่สะพัด 1.5 พันล้านบาทเท่าครั้งก่อน"

โดย "ไทยแลนด์ โมบาย เอ็กซ์โป" ในเดือน พ.ค.จะเน้นที่การเปิดตัวโทรศัพท์มือถือกลุ่มไฮเอนด์เป็นหลัก เนื่องจากก่อนหน้างานนี้เริ่มจะมีเรือธงจากแบรนด์ต่าง ๆ วางจำหน่ายทั่วโลก และคาดว่างานครั้งถัดไปนี้กลุ่มเครื่องระดับไฮเอนด์จะจำหน่ายมากที่สุด เพราะกลุ่มผู้บริโภคตั้งแต่กลางบนขึ้นไปยังมีสภาพคล่องในการซื้อสินค้า ดีกว่ากลุ่มกลางล่างลงไป 

นอกจากนี้ เพื่อสร้างความแตกต่างจากงานครั้งก่อน ๆ จะเพิ่มโซน "อีสปอร์ต" ให้กว้างขึ้น แต่ไม่เพิ่มพื้นที่จัดงานทั้งหมดโดยทั้งศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์จะเหลือโซนซีชั้นล่างเอาไว้

ขณะที่"เอื้อมพรปัญญาใส"ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เออาร์ไอพี ผู้จัดงานคอมมาร์ต เปิดเผยว่า งานครั้งต่อไปในเดือน มิ.ย. จะเพิ่มโซนใหม่เพื่อสร้างความหลากหลายให้กับงาน จากเดิมที่เน้นจำหน่ายสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่จะไม่ปรับเปลี่ยนรูปแบบงานจนเกินไป เนื่องจากมีบทเรียนจากครั้งที่จัดเมื่อ พ.ย. 2557 ที่จัดสรรพื้นที่สำหรับแสดงนวัตกรรมและโซลูชั่นเอสเอ็มอีถึง 30% จนทำให้ความน่าสนใจของงานลดลง เพราะผู้บริโภคที่มางานคอมมาร์ตต้องการซื้อสินค้าดี ราคาถูก

"ตอนนี้ผู้จัดยังมั่นใจว่า การจัดงานในเดือน มิ.ย.และ พ.ย.น่าจะกลับมาคึกคักเหมือนปกติ เพราะในแต่ละครั้งจะใช้ธีมที่แตกต่างกันเพื่อดึงผู้บริโภคให้เข้างานเช่นครั้งแรกเน้นที่การลดราคาสินค้าผ่านการเพิ่มโซนClearanceจนทำให้ยอดเงินสะพัดในงานถึงเป้า2.7 พันล้านบาท แม้จำนวนคนจะน้อยกว่าที่ตั้งเอาไว้ก็ตาม ส่วนครั้งต่อไปจะเป็นธีมไหนต้องดูก่อน แต่จะใช้ชื่อคอมมาร์ตเหมือนเดิม และไม่ปรับลดพื้นที่จัดงาน ส่วนการเพิ่มโซนที่เกี่ยวกับดิจิทัลคอนเทนต์ในงานครั้งที่จัดเดือน มี.ค. ก็มีผู้แสดงความสนใจจำนวนหนึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ผู้บริโภคมางานเพื่อชมนวัตกรรม"

ไม่แปลกใหม่ ผู้บริโภคเมิน
     ด้าน "พีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา" หัวหน้าสายงานการพาณิชย์และพัฒนาธุรกิจ บริษัท ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า เทรนด์การจัดงานไอทีเทรดโชว์ หรือจำหน่ายสินค้า แตกต่างกับการจัดงานแสดงโชว์รูปแบบต่าง ๆ เพราะการจัดโชว์นั้นยังมีช่องว่างจำนวนมากที่จะดึงผู้บริโภคเข้ามารับชม โดยเฉพาะกับโชว์ที่รับชมได้ทั้งครอบครัวมีมูลค่าตลาดกว่า 5 พันล้านบาท ส่วนโชว์ที่เกี่ยวกับคอนเสิร์ตหรืออื่นๆ ก็ยังมีผู้บริโภคเข้ามารับชม ต่างกับงานไอทีเทรดโชว์ที่ไม่ได้มีความแปลกใหม่ และอาจไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคอีกต่อไปเนื่องจากมีช่องทางซื้อสินค้าที่หลากหลายขึ้น ไม่จำเป็นต้องไปงานถึงจะซื้อได้

     "ทรูวิชั่นส์เริ่มรุกตลาดโชว์บิซอย่างจริงจัง หลังจากเริ่มทำในฝั่งคอนเสิร์ต และถึงกำลังซื้อชะลอตัว แต่ทุกคนก็ยังต้องการความบันเทิง ดังนั้น ผมเชื่อว่าค่าตั๋ว 1,000-2,000 บาทไม่น่าแพงเกินไปสำหรับคอนเสิร์ตหรือโชว์รูปแบบต่าง ๆกลับกันกับกลุ่มไอทีเทรดโชว์แม้จะเข้าฟรี แต่ด้วยปัจจุบันผู้บริโภคสามารถหาซื้อสินค้ารุ่นต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น รวมถึงจุดดึงดูดของงานก็มีเพียงเทคโนโลยี ทำให้งานในรูปแบบนี้อาจต้องมีการปรับปรุงกันใหม่"

แบรนด์มือถือชี้เริ่มไม่คุ้ม
     "จีรวุฒิวงศ์พิมลพร"กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยบริษัท เลอโนโว(ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า งานไอทีเทรดโชว์ในประเทศไทยตอนนี้แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง จึงไม่มีแผนที่จะเข้าไปร่วมงานประเภทนี้ด้วยตนเอง เพราะปัจจุบันผู้บริโภคสามารถหาซื้อสินค้าได้ตามค้าปลีกไอที และมือถือที่กระจายเกือบทั่วประเทศ รวมถึงมีช่องทางออนไลน์จำนวนมากจนไม่มีความจำเป็นที่จะมาเช็กราคาที่งานเหล่านี้อีกต่อไป ทำให้การนำสินค้าในราคาพิเศษให้กับดีลเลอร์ไปจำหน่ายในงาน น่าจะคุ้มกับการลงทุนมากกว่า

"ทั้งงานเทรดโชว์พีซีและโทรศัพท์มือถือ หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ โอกาสที่จะมีผู้เข้าชมน้อยลงก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ ที่สำคัญโอกาสที่จะดึงแบรนด์สินค้าให้ข้ามาลงทุนซื้อบูทก็ยากขึ้นเช่นกัน ดังนั้น ควรมองว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่ เช่น จัดเป็นงานแสดงนวัตกรรมเทคโนโลยีคล้ายกับต่างประเทศ พร้อมกับลดสเกลงานลงมา เพราะถ้าจัดแบบนี้โอกาสที่คนจะเข้ามาเป็นแสน ๆ เหมือนเดิมน่าจะยาก อาจมีเพียงหลักหมื่นต่อวัน ทั้งนี้ เลอโนโวก็จะไม่ร่วมงานประเภทนี้จนกว่าทางผู้จัดจะมีการเปลี่ยนแปลง เพราะไม่มีความคุ้มทุนอีกต่อไป"

ที่มา 

ไอทีจีเนียส เอ็นจิเนียริ่ง (IT Genius Engineering) ให้บริการด้านไอทีครบวงจร ทั้งงานด้านการอบรม (Training) สัมมนา รับงานเขียนโปรแกรม เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น งานออกแบบกราฟิก และงานด้าน E-Marketing ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ทั้ง SEO , PPC , และ Social media marketting

ติดต่อเราเพื่อสอบถามผลิตภัณฑ์ ขอราคา หรือปรึกษาเรื่องไอที ได้เลยค่ะ

Line : @itgenius (มี @ ด้านหน้า) หรือ https://lin.ee/xoFlBFe
Facebook : https://www.facebook.com/itgeniusonline
Tel : 02-570-8449 มือถือ 088-807-9770 และ 092-841-7931
Email : contact@itgenius.co.th
user
โดย Admin ITGenius
เข้าชม 3,973 ครั้ง

คำค้นหา : เศรษฐกิจฝืดฉุดกำลังซื้องานไอทีเทรดโชว์การปรับการตลาดแนวใหม่ กลยุทธ์การขาย ราคาสินค้า การวางแนวทางการตลาด งานเทรดโชว์พีซีและโทรศัพท์มือถืออัตรากำลังซื้อสินค้า ภาวะเงินเฟ้อ เงินบาทแข็งค่า ช่องทางจำหน่ายสินค้า