ครอบครองปรปักษ์ กับ 8 ข้อกฎหมายที่ควรรู้

ครอบครองปรปักษ์ กับ 8 ข้อกฎหมายที่ควรรู้

หมวดหมู่: บทความทั่วไป

ครอบครองปรปักษ์ กับ 8 ข้อกฎหมายที่ควรรู้


ทำความเข้าใจกฎหมาย หากโดน 'บุกยึดบ้าน' โดยไม่รู้ตัว อะไรคือข้อที่ควรรู้ และสิ่งที่ควรทำ

วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับกฎหมายควรรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ผ่านการพูดคุยกับ 'โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง' รองอธิบดีอัยการสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี หรือ สคช. 

1. การครอบครองปรปักษ์คืออะไร และสามารถใช้ได้ในกรณีใดได้บ้าง 

"หากพูดถึง 'ครอบครองปรปักษ์' กฎหมายใช้คำว่าครอบครองโดยสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของ ซึ่งต้องประกอบด้วยพฤติกรรมที่ต้องตรวจรายละเอียดแต่ละรายกรณี การที่เราจะเข้าไปอยู่ในบ้านใคร โดยเฉพาะบ้านหรือที่ดินที่อยู่ในกรุงเทพฯ ปกติแล้วต้องทราบว่าเป็นที่ที่มีเจ้าของ เราคงไม่สามารถอ้างสิทธิ์ใดได้

หากจะอ้างพื้นที่ในเมืองหลวงว่าตรงไหนไม่มีเจ้าของ หรือเป็นที่ว่างเปล่าจะเข้าไปครอบครอง คงจะไม่สามารถอ้างได้ถนัดนัก เพราะว่าการครอบครองปรปักษ์ที่ดินในเมืองหลวง ต้องสืบพยานในศาลด้วย ซึ่งปกติแล้วศาลจะเชื่อไหมว่าครอบครองโดย สงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของ ซึ่งที่ดินโดยทั่วไปถ้าจะดูว่าครอบครองปรปักษ์ ก็ต้อง 10 ปี เพราะฉะนั้นในกรุงเทพฯ มีโฉนดแน่นอน

การที่จะเข้าไปอยู่ในที่ดินคนอื่น โดยปกติแล้วจะต้องแจ้งว่าอยู่โดยอาศัยสิทธิ์อะไร เช่น ไปเช่ามาก่อนแล้วสัญญาเช่าหมดลง แต่ยังไม่ย้ายออกเพราะไม่มีที่จะไป คืออาศัยสิทธิ์ตามสัญญาเดิม ผู้เช่าก็คงจะฟ้องขับไล่ กรณีเดียวกันต้องไปดูกฎหมายอาญาด้วย ถ้าเข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต จะเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาเรื่องบุกรุก ซึ่งเจ้าของทรัพย์สามารถใช้สิทธิ์ฟ้องร้องตามกฎหมายได้

แต่ความผิดฐานบุกรุก กฎหมายอาญาบอกไว้อีกว่า ถ้ามีการไปแจ้งความแล้ว พนักงานสอบสวนจะต้องลงไปสอบสวนให้ได้ความจริงว่า ใครเป็นผู้กระทำความผิด เช่น ใครเข้ามาบุกรุก แล้วคนที่เข้ามาเป็นผู้กระทำความผิดหรือผู้บริสุทธิ์อย่างไร กฎหมายให้สอบทั้ง 2 ฝั่ง 

ฉะนั้นถ้ามีการแจ้งความคดีบุกรุก ผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหา จะต้องชี้แจงว่าเข้ามาทำไม มีสิทธิ์อะไร แต่ถ้าคำชี้แจงฟังไม่ขึ้น ก็จะดำเนินคดีฐานบุกรุก ถ้าฟังขึ้นก็อาจเสนอความเห็นเป็นสำนวนสั่งไม่ฟ้อง ให้อัยการพิจารณาอีกที แต่ถ้าฟังขึ้นก็จะเสนอความเห็นเป็นควรสั่งฟ้อง ให้อัยการพิจารณาคดีต่อไป และต้องสอบสวนให้ได้ความจริง

ดังนั้น ชีวิตประจำวันพวกเรา เวลาไปที่ไหนแล้วเห็นที่ว่าง จะไม่สามารถเข้าไปอยู่ได้ถ้าไม่มีนิติสัมพันธ์ หรือไม่เคยมีสิทธิ์ตรงนั้นมาก่อน แค่เข้าไปก็เท่ากับบุกรุกแล้ว แม้ที่ดินจะไม่มีรั้วกั้นแต่ก็สันนิษฐานได้อยู่แล้วว่ามีเจ้าของ"

2. การใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินหรืออสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น โดยไม่ได้รับการยินยอม มีความผิดอย่างไร

"ถ้าไม่ได้รับการยินยอมนั่นก็คือข้อหาบุกรุกแล้ว แต่ถ้าได้รับความยินยอม ก็จะมีอยู่ 2 อย่าง คือ 'ให้อยู่อาศัย' โดยไม่มีค่าเช่า และ 'ให้เช่า' ซึ่งต้องจ่ายค่าเช่าตามตกลงกัน"

3. ผู้เข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ผู้อื่น สามารถเรียกร้องให้เจ้าของจ่ายค่าขนย้าย หรือ ค่าตกแต่งบ้านได้หรือไม่ อย่างไร

"ถ้าพื้นฐานมาจากความผิดฐานบุกรุก จะไปเรียกร้องค่าใช้จ่ายจากเขาได้อย่างไร ต้องตรวจสอบว่าเข้าไปอยู่ในที่นั่นด้วยสุจริตหรือไม่ 

ถ้าเข้าโดยไม่สุจริตหรือไม่มีสิทธิ์ แล้วจะไปเรียกร้องค่าตกแต่งหรือค่าชดเชยจากเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ นั่นแสดงความไม่เป็นธรรมแก่ฝ่ายเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ แต่ก็ยังต้องตรวจรายละเอียดต่อไป"

4. การเปลี่ยนแปลงลักษณะอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยเจ้าของไม่ยินยอม มีความผิดหรือไม่ อย่างไร

"อาจจะ... เป็นความผิดฐานให้เสียทรัพย์ก็ได้ ที่ใช้คำว่า 'อาจจะ' เพราะการดำเนินคดีต้องสอบสวนข้อเท็จจริงโดยละเอียด คำว่าอาจจะในที่นี้ ถ้าเรามีบ้านของเราอยู่ แล้วคนอื่นเข้ามาอยู่ในบ้าน มาทุบหรือปรับเปลี่ยนทรัพย์สินเดิม แล้วเราต้องการให้ของเหล่านั้นอยู่เหมือนเดิมไหม ต้องดูต่อว่ามันเสียหายหรือเปล่า ถ้าเสียหายก็เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์

นอกจากนั้นก็ยังมีความผิดฐานบุกรุก ซึ่งต้องมองว่าเป็นความผิดในแต่ละกรรม เข้าไปวันไหน เท่ากับวันนั้นบุกรุก และทุบทำลายหรือปรับเปลี่ยนวันไหน ก็เท่ากับทำให้เสียทรัพย์วันนั้น แต่คนที่เข้าไปกระทำ จะมีข้อต่อสู้หรือมีรายละเอียดอย่างไรก็กล่าวมา แล้วดูต่อว่าเชื่อได้หรือไม่ หากตกลงกันไม่ได้ก็ต้องดำเนินคดีต่อไป"

5. หากเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ต้องการให้ผู้ที่บุกครอบครองออกจากบ้าน มีวิธีการดำเนินการอย่างไรได้บ้าง

"ขั้นต้นคือการแจ้งความบุกรุกเป็นคดีอาญา ในเวลาเดียวกันส่วนของคดีแพ่ง ก็สามารถฟ้องขับไล่ได้ แต่เมื่อแจ้งความอาญาไปแล้ว และตำรวจพิจารณาเห็นว่าเป็นบุกรุก ก็จะเสนอความเห็นคำสั่งฟ้องต่ออัยการ อัยการอาจจะดำเนินการส่วนแพ่งให้ในเวลาเดียวกัน ผู้เสียหายก็อาจจะไม่ต้องไปฟ้องแพ่งใหม่"

6. กรณีที่หมู่บ้าน ไม่มีนิติบุคคลดูแลแล้ว หากเกิดการละเมิดอสังหาริมทรัพย์ลูกบ้าน คณะกรรมการหมู่บ้านสามารถดำเนินการใดๆ ในการปกป้องลูกบ้านที่ถูกละเมิดได้หรือไม่

"โดยปกติแล้วกรรมการ คือ กรรมการนิติบุคคล แต่พื้นฐานแล้วทุกคนมีสิทธิ์ปกป้องทรัพย์สินของตน ต่อให้มีนิติบุคคล เจ้าของบ้านก็มีสิทธิ์ปกป้องทรัพย์สินของตนได้ และถ้ามีการกระทำใดที่เสียหาย นิติบุคคลจะดูเฉพาะพื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้าน

ส่วนตัวบ้านถือว่านิติบุคคลไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย ตัวบ้านเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ครอบครอง เพียงแต่นิติบุคคลจะมีการออกระเบียบกติกาเพื่อรักษาความปลอดภัย เช่น การจัดเวรยาม แลกบัตรก่อนเข้าหมู่บ้าน เป็นต้น"

7. การต่อเติมอสังหาริมทรัพย์ผู้อื่น โดยไม่มีการขออนุญาตหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง (สำนักงานเขต) เจ้าของบ้าน หรือ ผู้บุกรุก มีความผิดอย่างไร แล้วกรณีนี้ หากมีความผิด ใครจะต้องเป็นผู้จ่ายค่ารื้อถอนในส่วนที่ต่อเติม โดยไม่ขออนุญาต

"ปกติต้องมีการขออนุญาตทางกฎหมายกับเขต ถ้ามีการบุกรุกโดยเจ้าของบ้านไม่รู้เรื่อง ก็ถือว่าเจ้าของบ้านไม่มีการกระทำ เมื่อไม่มีการกระทำเพราะไม่รู้เรื่อง ใครทำก็ต้องรับผิดชอบ 

ถ้าเจ้าของบ้านไม่ได้ทำก็ไม่ต้องรับผิดชอบ การรับผิดชอบก็ต้องรับผิดชอบเรื่อง กฎหมายต่อเติมหรือดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต และยังจะต้องรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนที่จะกลับสู่สภาพเดิม และเมื่อเจ้าของบ้านไม่ได้ทำ ก็มีสิทธิ์เรียกร้องตามกฎหมายให้ดำเนินการให้บ้านกลับสู่สภาพเดิม"

8. ในกรณีนี้เมื่อมีการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้บุกรุกแล้ว สามารถประนีประนอมยอมความกันได้หรือไม่ 

"คงต้องดูข้อหาที่พนักงานสอบสวนดำเนินคดีว่า เป็นบุกรุกลักษณะฉกรรจ์หรือไม่ ตรงนี้ต้องมาจากสำนวนการสอบสวน ถึงจะนำมาพิจารณาได้ แต่หากมีการให้ข้อมูลรายละเอียด หรือก่อนแจ้งความดำเนินคดี มาพบอัยการแล้วให้ไกล่เกลี่ยพูดคุย ชี้แจงความถูกผิด ก็อาจจะไม่ต้องนำไปสู่การแจ้งความ  

ตรงนี้เป็นบริการฟรีทั่วประเทศ มีทุกจังหวัด สามารถเข้าไปปรึกษาขอให้อัยการยุติข้อพิพาท หากยุติไม่ได้ค่อยเข้าสู่การแจ้งความดำเนินคดีก็ได้"

ท่านโกศลวัฒน์กล่าวทิ้งท้ายกับทีมข่าวฯ ว่า สำนักงานอัยการสูงสุด มีสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิ์และช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนฟรีทุกจังหวัด หากมีข้อสงสัยใดสามารถเข้าสอบถามได้ที่สำนักงานใกล้บ้าน 

หรือกรณีเกิดปัญหาพิพาท แล้วยังไม่อยากไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ สามารถเข้าพบเพื่อให้ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท ทางสำนักงานฯ ยินดีเป็นคนกลาง เพื่อหาทางยุติข้อพิพาทด้วยดี

หากใครมีเรื่องราวของกฎหมายอยากปรึกษา สามารถติดต่อได้ที่เบอร์กลาง 1157 และหากไม่รู้ว่า เบอร์ของสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิ์ในจังหวัดตนคือเบอร์ไหน ก็สามารถสอบถามได้ที่เบอร์ 1157 เช่นกัน กฎหมายทุกชนิดสำนักงานอัยการฯ บริการฟรีหมด!

"ถ้าจะต้องไปดำเนินคดีก็จะทำให้เสียเวลาทุกฝ่าย ถ้ากระบวนการไหนที่ช่วยไกล่เกลี่ยได้ เรายินดี อย่างน้อยมาถามเรา เราจะบอกตามกฎหมายว่าอะไรผิดหรือถูก สิทธิ์ของท่านมีอะไร แล้วมาคุยว่าจะจบปัญหาอย่างไร เราจะให้ความรู้อย่างแท้จริง ถ้ารู้แล้วจะได้ตัดสินใจถูก"


ที่มา: thairath.co.th/scoop/theissue/2722833

 

ไอทีจีเนียส เอ็นจิเนียริ่ง (IT Genius Engineering) ให้บริการด้านไอทีครบวงจร ทั้งงานด้านการอบรม (Training) สัมมนา รับงานเขียนโปรแกรม เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น งานออกแบบกราฟิก และงานด้าน E-Marketing ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ทั้ง SEO , PPC , และ Social media marketting

ติดต่อเราเพื่อสอบถามผลิตภัณฑ์ ขอราคา หรือปรึกษาเรื่องไอที ได้เลยค่ะ

Line : @itgenius (มี @ ด้านหน้า) หรือ https://lin.ee/xoFlBFe
Facebook : https://www.facebook.com/itgeniusonline
Tel : 02-570-8449 มือถือ 088-807-9770 และ 092-841-7931
Email : contact@itgenius.co.th

แนะนำหลักสูตรอบรมที่น่าสนใจ

user
โดย Bella
เข้าชม 452 ครั้ง

คำค้นหา : ครอบครองปรปักษ์บุกยึดบ้านบุกรุกบ้านเจ้าของบ้านใช้ที่ดินคนอื่นครองที่ดินนานเกิน 10 ปีโฉนดที่ดินได้ที่โดยไม่ต้องซื้อซื้อบ้านแล้วมีปัญหาบุกรุกที่ดิน