ประมูลแรง 4G จะแพงขึ้นมั้ย?

ประมูลแรง 4G จะแพงขึ้นมั้ย?

หมวดหมู่: บทความทั่วไปข่าวไอที

คลื่น1800MHz ประมูลแรง 4G จะแพงขึ้นมั้ย? 
คลื่น1800MHz ประมูลแรง 4G จะแพงขึ้นมั้ย? หลายฝ่ายมีความกังวลว่าในการประมูลคลื่น 1800 MHz ที่สิ้นสุดลงไปแล้ว มีราคาสูงจะส่งผลให้ราคาค่าบริการแพงด้วยนั้น

หลายฝ่ายมีความกังวลว่าในการประมูลคลื่น 1800 MHz ที่สิ้นสุดลงไปแล้ว มีราคาสูงจะส่งผลให้ราคาค่าบริการแพงด้วยนั้น

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เขียนอธิบายเกี่ยวกับราคาประมูล 4 คลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ไว้ดังนี้ หลังการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่แข่งขันประมูลกันอย่างเข้มข้นหลายคนสงสัยว่า ราคาชนะประมูลในระดับ 8 หมื่นล้านบาทนั้น จะทำให้อัตราค่าบริการ 4G แพงขึ้นหรือไม่ และทำไมก่อนเปิดประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz บางค่ายก็โฆษณาบริการ 4G แล้วสิ่งที่โฆษณานั้น ตกลงเป็น 4G แท้หรือ 4G เทียม

แรกสุดต้องทำความเข้าใจก่อนว่าหลักการประมูลของ กสทช.ในครั้งนี้หรือที่เรียกกันติดปากว่า “การประมูล 4G” เป็นเรื่องของการประมูลสิทธิในคลื่นความถี่ 1800 MHz มิใช่การประมูลสิทธิในเทคโนโลยี 4G เพียงแต่ กสทช.มุ่งหมายที่จะให้ผู้ชนะประมูลให้บริการด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบันนั่นคือ 4G และเมื่อไรที่ยุค 5G มาถึงผู้ชนะประมูลก็สามารถปรับปรุงบริการเป็น 5G ได้บนสิทธิในคลื่นความถี่ของตนโดยไม่ต้องประมูลกันใหม่แต่อย่างใด

หลักการเดียวกันนี้ใช้มาตั้งแต่การประมูลคลื่นความถี่ 2100 MHz หรือที่เรียกติดปากกันโดยทั่วไปว่า “การประมูล 3G” ดังนั้นแม้ผู้ชนะการประมูลครั้งนั้นเริ่มเปิดให้บริการในระบบ 3G แต่เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าจนสามารถให้บริการ 4G บนคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz ได้ ผู้ประกอบการบางรายจึงปรับปรุงบริการบนคลื่นความถี่ย่านนี้ให้เป็น 4G สิ่งที่โฆษณาจึงมิใช่บริการ 4G เทียมแต่อย่างใด นอกจากนี้ ผู้ให้บริการบางรายซึ่งยังคงเหลือสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz สำหรับให้บริการ 2G ก็ได้ขอปรับปรุงบริการเป็น 4G เช่นกันแต่เป็นชุดคลื่นความถี่ 1800 MHz คนละชุดกับที่เพิ่งประมูลเสร็จสิ้นไป ประเทศไทยจึงมี 4G บนคลื่นความถี่ทั้งย่าน 1800 MHz และ 2100 MHz อยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ยังไม่เกิด “การประมูล 4G”

ด้วยเหตุที่มีการให้บริการ 4G ในประเทศไทยอยู่ก่อนแล้วจึงทำให้เกิดแพ็กเกจ 4G หลายแพ็กเกจ ซึ่งมีสิทธิประโยชน์และอัตราค่าบริการต่าง ๆ กันไป และด้วยประสิทธิภาพของเทคโนโลยี 4G ซึ่งรับส่งข้อมูลปริมาณมาก ๆ ได้ดีกว่า 3G ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยถูกลงเราจึงพบว่า อัตราค่าบริการเฉลี่ยของบริการ 4G ถูกกว่าบริการ 3G อยู่แล้ว ดังนั้น หากผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz จะกำหนดอัตราค่าบริการที่แพงกว่า 4G ที่มีอยู่แล้วในท้องตลาด ผู้บริโภคก็ย่อมจะไม่เลือกใช้บริการราคาแพงนั้น ในขณะนี้เราจึงมีกลไกตลาดเป็นปัจจัยสำคัญในการคุมมิให้อัตราค่าบริการแพงขึ้น ยิ่งถ้าบริการ 4G เดิมในท้องตลาดลดราคายิ่งจะเป็นการกดดันให้บริการ 4G ใหม่ไม่สามารถตั้งราคาแพงได้ตามอำเภอใจ

หลายคนอาจยังเชื่อว่าผู้ชนะการประมูลน่าจะต้องผลักภาระต้นทุนค่าคลื่นความถี่มาให้ผู้บริโภคแบกรับ ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของการประกอบธุรกิจ แต่ในทางเศรษฐศาสตร์ จะพบว่าต้นทุนแต่ ละประเภทมีความยากง่ายในการผลักภาระให้ผู้บริโภคแบกรับได้แตกต่าง กัน ต้นทุนที่ผลักภาระ ให้ผู้บริโภคได้ยากคือต้นทุนจมยกตัวอย่างเช่น ค่าเซ้งอาคารหากมีร้านขายผลไม้ร้านที่หนึ่งเซ้งอาคารมาเจ็ดแสนบาทและร้านขายผลไม้ติด ๆ กันเซ้งอาคารมาหนึ่งล้านบาทเราจะพบว่าราคาผลไม้เกรดเดียวกันของทั้งสองร้านจะไม่แตกต่างกันตามค่าเซ้งที่แพงหรือถูก เพราะหากร้านที่สองขายผลไม้เกรดเดียวกันในราคาแพงกว่า ผู้บริโภคย่อมจะพากันไปซื้อผลไม้จากร้านที่หนึ่งการผลักภาระค่าเซ้งอาคารมาให้ผู้บริโภค จึงทำไม่ได้ง่าย ๆ และเนื่องจากต้นทุนจมเป็นรายจ่ายที่จ่ายขาดไปแล้วไม่สามารถย้อนกลับไปลดต้นทุนนั้นลงได้ กลยุทธ์ที่ร้านที่สองจะอยู่รอดคือ การขายผลไม้ในราคาที่แข่งขันได้กับร้านที่หนึ่งเพื่อให้มีรายรับเข้าร้าน ในขณะเดียวกันต้องลดต้นทุนในส่วนที่ลดได้ซึ่งก็คือ รายจ่ายในการดำเนินการในแต่ละวันมิใช่ใช้กลยุทธ์ขายผลไม้เกรดเดียวกันแพงกว่าร้านคู่แข่งด้วยเหตุว่าเซ้งอาคารมาแพงกว่าแต่อย่างใด

เงินชนะประมูลคลื่นความถี่ก็เปรียบได้กับค่าเซ้งสิทธิในการใช้คลื่นความถี่ ผู้เข้าร่วมประมูลทุกรายรู้ดีว่าเมื่อจ่ายไปแล้วก็เป็นการจ่ายขาดไม่สามารถขอคืนหรือขอลดได้ไม่ว่าในกรณีใด ๆ และรู้อยู่ก่อนแล้วว่าหากตนเองกำหนดอัตราค่าบริการ 4G แพง ผู้บริโภคก็จะเลือกซื้อบริการ 4G ของรายอื่น ผู้เข้าร่วมประมูลทุกรายจึงได้คำนวณเพดานราคาของคลื่นความถี่ที่ตนจะประมูลไว้ก่อนวันประมูลแล้ว และต่างก็ตระหนักดีว่าถ้าตนเองชนะประมูลในราคาที่สูงกว่าเพดานราคาที่คำนวณล่วงหน้ากิจการก็จะไม่สามารถทำกำไรได้

ยิ่งไปกว่านั้นเพดานราคาของคลื่นความถี่ที่ผู้เข้าร่วมประมูลแต่ละรายคำนวณขึ้นมาย่อมแตกต่างกันตามศักยภาพทางธุรกิจของแต่ละรายเช่น ปริมาณทรัพย์สิน-หนี้สิน จำนวนผู้ใช้บริการและโครงข่ายโทรคมนาคมที่มีอยู่เดิม โมเดลทางธุรกิจที่จะให้บริการและความสามารถในการสร้างรายได้หรือทำกำไรจากโมเดลธุรกิจนั้น ๆ เป็นต้น และเนื่องจากเทคโนโลยีและบริการ 4G เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้วตัวเทคโนโลยีมีความเสถียรมีอุปกรณ์โครงข่ายและตัวโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมวางจำหน่าย อีกทั้งมีโมเดลธุรกิจ 4G ในต่างประเทศให้ศึกษาการคำนวณเพดานราคาประมูลคลื่นความถี่ในปัจจุบันจึงมีความแม่นยำค่อนข้างสูง ราคาชนะประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่เป็นไปตามการคำนวณในครั้งนี้จึงไม่อาจทำให้อัตราค่าบริการ 4G แพงขึ้นตามที่หลายคนกังวล

แต่ที่สำคัญที่สุดคือ การที่นายกรัฐมนตรีได้แสดงความห่วงใยในประเด็นนี้ไว้ตั้งแต่ก่อนที่กสทช.จะกำหนดหลักเกณฑ์การประมูลคือ ทำอย่างไรให้ผู้ใช้บริการไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบและให้กำหนดค่าใช้บริการไว้ล่วงหน้า ซึ่งทาง กสทช.เองได้รับข้อห่วงใยนี้มากำหนดไว้ในหลักเกณฑ์การประมูลครั้งนี้แล้ว โดยกำหนดให้ผู้ชนะการประมูลต้องให้บริการที่มีคุณภาพและต้องกำหนดอัตราค่าบริการ ทั้งบริการเสียงและบริการข้อมูลเฉลี่ยต่ำกว่าอัตราค่าบริการเฉลี่ยของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้คลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz และต้องจัดให้มีแพ็กเกจราคาถูกอย่างน้อย 1 รายการ ที่ส่งเสริมและเพิ่มโอกาสให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงบริการได้และต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงด้วย

สรุปง่าย ๆ คือ ต้องมีแพ็กเกจที่คุณภาพไม่ต่ำกว่าเดิมในราคาที่ถูกลงโดยห้ามบังคับซื้อ เหมาโทรฯ เท่าใด ใช้เน็ตเท่าใดก็จ่ายเท่านั้น ไม่ใช่ถูกบังคับให้ซื้อค่าโทรฯ เดือนละร้อยนาทีหรือค่าเน็ตเดือนละหนึ่งกิกะไบต์ ทั้งที่ผู้บริโภคหลายคนใช้นาทีหรือใช้เน็ตไม่หมดในแต่ละรอบบิลกลายเป็นการซื้อแบบเสียของไปแต่ยิ่งทำกำไรให้กับผู้ให้บริการ

และหากในอนาคตมีผู้ให้บริการรายใหม่แจ้งเกิดในตลาด 4G ได้จริง เราอาจจะเห็นอัตราค่าบริการที่ถูกลงอย่างชัดเจนเหมือนกับตอนที่ทีโอทีเปิดบริการ 3G เมื่อปลายปี พ.ศ.2552 ซึ่งเดิมอัตราค่าบริการอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือของแต่ละค่ายตกอยู่ที่ 12 สตางค์ต่อกิโลไบต์หรือประมาณ 122 บาทต่อเมกะไบต์ แต่ทีโอที 3G กำหนดอัตราค่าบริการเพียง 2 บาทต่อเมกะไบต์ ลดลงจากเดิมกว่า 60 เท่า ทำให้ค่ายอื่น ๆ ต้องลดราคาลงมาสู้ในระดับเดียวกันซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการเพิ่มการแข่ง ขันในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นกลไกกำกับดูแลอัตราค่าบริการที่ได้ผลดีที่สุด.

ที่มา:

ไอทีจีเนียส เอ็นจิเนียริ่ง (IT Genius Engineering) ให้บริการด้านไอทีครบวงจร ทั้งงานด้านการอบรม (Training) สัมมนา รับงานเขียนโปรแกรม เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น งานออกแบบกราฟิก และงานด้าน E-Marketing ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ทั้ง SEO , PPC , และ Social media marketting

ติดต่อเราเพื่อสอบถามผลิตภัณฑ์ ขอราคา หรือปรึกษาเรื่องไอที ได้เลยค่ะ

Line : @itgenius (มี @ ด้านหน้า) หรือ https://lin.ee/xoFlBFe
Facebook : https://www.facebook.com/itgeniusonline
Tel : 02-570-8449 มือถือ 088-807-9770 และ 092-841-7931
Email : contact@itgenius.co.th
user
โดย Admin ITGenius
เข้าชม 3,555 ครั้ง

คำค้นหา : ประมูลแรง 4G จะแพงขึ้นมั้ย? ราคาประมูล 4 คลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ แข่งขันประมูลกันอย่างเข้มข้นราคาชนะประมูลในระดับ 8 หมื่นล้านบาท4G แท้หรือ 4G เทียม การประมูล 4Gการประมูล 3Gโฆษณาจึงมิใช่บริการ 4G เทียมเกิดแพ็กเกจ 4G หลายแพ็กเกจ บริการ 4G ถูกกว่าบริการ 3G การคุมมิให้อัตราค่าบริการแพงขึ้น บริการรายใหม่แจ้งเกิดในตลาด 4G อัตราค่าบริการที่ถูกลงอย่างชัดเจนลดราคาลงมาสู้ในระดับเดียวกันกลไกกำกับดูแลอัตราค่าบริการ