เยอะไปไหม? เมื่อเราต้องอยู่ในสังคม “เอะอะแบน”

เยอะไปไหม? เมื่อเราต้องอยู่ในสังคม “เอะอะแบน”

หมวดหมู่: บทความทั่วไป

เยอะไปไหม? เมื่อเราต้องอยู่ในสังคม “เอะอะแบน”
เคยสังเกตกันบ้างไหมว่าทุกวันนี้ เวลาที่เรารู้สึกไม่พอใจอะไร หรือมีอะไรที่ไม่ได้ดั่งใจ เรามักจะมีคำว่า “ก็แบนมันสิ” ผุดขึ้นมาในหัวอยู่บ่อยครั้ง ในโลกออนไลน์ทุกวันนี้ก็เช่นกัน เราจะเห็นปรากฏการณ์แบนนั่นแบนนี่กันให้เกร่อ จะเรียกว่าแบนเป็นกิจวัตร แบนไปตาม ๆ กัน หรือแม้แต่แบนไว้ก่อน ทั้งที่ไม่รู้ว่าในโลกความเป็นจริงจะหนีมันได้มากน้อยแค่ไหน ทำให้อาจต้องหันกลับมามองตัวเองในฐานะ “ผู้บริโภคและผู้เสพ” ดูว่า เราอินกับปรากฏการณ์นี้กันอย่างไรบ้าง

“แบน” ในความหมายที่จะพูดถึงนี้ เป็นคำศัพท์ที่ไม่ได้ถูกบัญญัติความหมายลงในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน แต่ความหมายกลับเดาได้ไม่ยาก โดยเฉพาะถ้าเราได้เห็นบริบทที่มีการใช้คำคำนี้ ถ้าเอาที่เข้าใจง่ายที่สุด “แบน” ก็คือ “การคว่ำบาตร” ที่พจนานุกรมบัญญัติความหมายไว้ว่า “ไม่ยอมคบค้าสมาคมด้วย” นั่นเอง

ทุกวันนี้ ทวิตเตอร์ที่เรามีกันไว้เพื่อบ่นเรื่องส่วนตัว เอาไว้ติ่งดารา สมัครแอคหลุมไว้ตามด่า เอาไว้เสพดราม่า หรือเอาไว้ตามข่าวสารก็แล้วแต่ เราจะต้องเห็นแฮชแท็กอะไรสักอย่างที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “แบน” ติดเทรนด์อยู่ทุกวัน หรือแทบจะทุกวัน เคยมีเทรนด์ที่ติดแฮชแท็ก “แบน…” ขึ้นพร้อมกันถึง 3 แฮชแท็กในเทรนด์เดียวกัน

แล้วชีวิตนี้เราแบนอะไรกันมาแล้วบ้าง ใช่ สิ่งที่เราแบนออกไปให้พ้นวงโคจรชีวิต คืออะไรก็ตามที่เราไม่พอใจ ไม่ชอบ เราก็เลือกที่จะปฏิเสธมันออกไปจากชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน พอแบนออกไปก็กลายเป็นอดีตเพื่อน เป็นคนรู้จัก หรือเป็นคนแปลกหน้าที่รู้จักนิสัยกันดี แบนสินค้ายี่ห้อนู่นนั่นนี่ แบนบริการ และทุกวันนี้ก็เริ่มลามมาถึงการแบนคนดัง คนที่มักปรากฏตัวออกสื่อ

แน่นอนว่าหากเราไม่ชอบ ไม่พอใจ ไม่ถูกใจ ถ้าเราจะแบน เลิกใช้บริการ หรือตัดยี่ห้อนี้ออกจากสารบบ จริง ๆ มันก็เป็นสิทธิส่วนบุคคลของตัวเรา แต่การที่เราเล่นติดแฮชแท็กแบนทุกอย่างบนโลกใบนี้ เพราะเขา “เห็นต่าง” หรือรักตัวเองมากกว่า ปรากฏการณ์นี้ก็ไม่ต่างอะไรจากการ “ล่าแม่มด”

“แบน” สมัยนี้ กับ “ล่าแม่มด” สมัยก่อน
ในยุคโบราณ การล่าแม่มด (Witch-hunt) คือ การไล่ล่าบุคคลที่มีความเชื่อหรือมีความเห็นที่ตรงกันข้ามกับคนส่วนใหญ่ ในอดีต การล่าแม่มดเคยเกิดขึ้นกับผู้ที่ไม่ยอมเข้ารีต ไม่หันมานับถือศาสนาคริสต์ พวกเขาจะถูกตราหน้าว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อสังคม เป็นตัวอันตรายที่ต้องกำจัดให้พ้นทาง ส่วนมากมักเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับศีลธรรม

แต่การล่าแม่มดก็ยังไม่หายไปจากโลกใบนี้ จากการล่าคนที่คิดว่าเขาเป็นพวกบูชาลัทธิแม่มด เปลี่ยนมาเป็นการล่าคนเห็นต่าง หรือคนที่ถูกมองว่าเป็นภัยต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแทน ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกวันนี้สังคมเรามีการล่าแม่มดทางการเมืองด้วย การแบนจึงยังมีพื้นฐานเกี่ยวกับศีลธรรมอยู่ ดังนั้น การออกมาแบนใครสักคนในกรณีที่เกี่ยวกับการเมือง ก็เพราะเขาสนับสนุน หรือออกแนวเพิกเฉยกับอะไรก็ตามที่คนส่วนใหญ่มองว่ามันไม่ปกติ โดยมองว่าเป็นเรื่องผิดศีลธรรม

ไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมจะโดน “ทัวร์ลง”
ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง “ความกลัว” และ “สัญชาตญาณการเอาตัวรอด” มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน ไม่มีใครที่จะบ้าดีเดือดไปทุกเรื่อง หรือจะขี้ขลาดไปซะทุกอย่าง ดังนั้น จึงไม่ใช่ทุกคนที่กล้าพอจะเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยง นี่ยังไม่นับรวมปัจจัยหรือเงื่อนไขบางอย่างในชีวิต ที่ทำคนคนหนึ่งจำเป็นต้องอยู่ในกรอบ หรือแสดงความคิดเห็นอะไรออกมาไม่ได้มาก แบบที่อยู่ภายในใจเป็นแสนล้านคำ แต่มีกี่คำที่พูดออกมาได้ ที่สำคัญ “เขามีสิทธิ์ที่จะพูดหรือไม่พูดก็ได้” และ “เขามีสิทธื์ที่จะ ‘เซฟ’ ตัวเขาเองจากสิ่งที่เขาคิดว่าอันตราย”

เมื่อลองกลับมาพิจารณาดูดี ๆ การที่เราเรียกร้องให้ใครสักออกมาเป็น “กระบอกเสียง” นั่นมันอาจจะเป็น “ความคาดหวังของเราฝ่ายเดียว” ในเมื่อต่างคนต่างใจ คิดไม่เหมือนกัน เห็นไม่เหมือนกัน ก็คงบังคับใครให้พูดไม่ได้ หากเราไม่พอใจ ไม่ชอบ ไม่เห็นด้วย ก็ไม่จำเป็นต้องป่าวประกาศให้โลกรู้ เป็นไปได้ไหมที่เราจะแค่กด unfollow ไปเงียบ ๆแล้วขังตัวเองอยู่ในห้องเสียงสะท้อน รับข้อมูลฝ่ายเดียว ฟังเฉพาะข้อมูลที่อยากได้ยิน ซึ่งคงไม่ดีเท่าไรนัก

แต่ถึงกระนั้น เขาเองก็มีสิ่งที่ต้องเสียจากการทำอะไรไม่ถูกใจใคร แล้วเลือกที่จะเงียบ เช่น ยอด follow ที่ลดลง ก็ถ้ามีคนไม่ชอบ 1,000 คน แล้วเลิกติดตามทั้ง 1,000 ยอด ก็อาจจะมีผลต่อหน้าที่การงาน ดังนั้น อาจไม่จำเป็นเลยก็ได้ที่จะไปติดแฮชแท็กแบนบนโซเชียลมีเดีย เพราะนั่นมันดูเหมือยการประจานเสียมากกว่า

“แบน” ได้ผลจริง หรือยิ่งประชาสัมพันธ์
การที่เราป่าวประกาศให้โลก (ออนไลน์) รู้ ว่าเรากำลังแบนใครสักคนอยู่นั้น แน่นอนว่ามันจะเป็นกระแสให้พูดถึงอยู่ในช่วงเวลาสั้น ๆ นั้นเกิดผลทางลบกับบุคคลนั้นอยู่แล้ว แต่กระแสที่ว่าก็มีลักษณะ “มาไวไปเร็ว” โดยเฉพาะการติดแฮชแท็กแบนบนทวิตเตอร์ ที่ข้อมูลไหลอย่างรวดเร็ว เมื่อมีกระแสใหม่เข้ามา เทรนด์เก่าก็เริ่มหลุดไป และอีกไม่นานคนก็ลืม

ก็มีบ้างเหมือนกันกับคนที่โดนแบนแล้วได้ผล คนคนนั้นหายไป แต่สิ่งที่น่าคิด คนที่ช่วงแรกตกเป็นจำเลยสังคม ไป ๆ มา ๆ กลับโด่งดังได้เพียงข้ามคืน นั่นเป็นเพราะการที่ชื่อเขาถูกป่าวประกาศลงโซเชียลมีเดีย ยิ่งทำให้คนสนใจ ทำให้คนตามดราม่า (หรือเรียกว่าตามเผือก) จาก Nobody กลายเป็น Somebody ขึ้นมาก็มีให้เห็นไม่น้อย หรือบางทีอาจไปขุดเจอเรื่องดี ๆ ของเขาขึ้นมา ก็มีอยู่เหมือนกันที่คนจะนำมาหักล้างกับกระแสด้านลบ มีผลให้คดีพลิกไปอีก

นี่จึงเป็นอีกประเด็นที่อาจต้องลองคิดดูดี ๆ ว่าการติดแฮชแท็กแบนใครบางคนนั้นจะให้ผลอย่างไรกันแน่ เรากำลังทำให้คนที่เราอยากจะแบน เป็นที่รู้จัก ใคร ๆ ก็พูดถึงในชั่วข้ามคืนหรือเปล่า ไม่เช่นนั้น จะมีคนเรียกร้องความสนใจด้วยวิธี “สร้างข่าวในแง่ลบ” ขึ้นมา เพื่อให้ตัวเองเป็นกระแสเหรอ

ระวัง “พูดแง่ลบ” อาจมีสิทธิ์โดนฟ้อง
การติดแฮชแท็กแบนใครสักคนในโซเชียลมีเดีย คงไม่มีใครกดทวีตข้อความที่เป็นแฮชแท็กอย่างเดียวโดยไม่มีความคิดเห็นของตัวเองอยู่แล้ว ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ต้องระวังให้มาก เพราะการวิจารณ์ที่เกินขอบเขต ยิ่งด่าก็ยิ่งมัน ยิ่งมีคนผสมโรงก็ยิ่งสนุก รวมไปถึงการแสดงความคิดเห็นจากสิ่งที่ฟังตามกันมา มีสิทธิ์โดน พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ นำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ต หรือเป็นการทำให้ผู้อื่นเสียหายโดยไม่รู้ตัว

ที่ผ่านมาก็มีกรณีเชือดไก่ให้ลิงดูบ้างแล้วเหมือนกัน และต่อไปก็คงจะมีมากขึ้น อย่างที่บอกว่ามนุษย์มีสัญชาตญาณในการปกป้องตัวเอง หากสิ่งที่เขาโดนเป็นสิ่งที่กระทบต่อชื่อเสียง หน้าที่การงาน หรือแม้แต่ผลกระทบทางจิตใจ เขาก็อาจจะไม่ทน เพราะคำวิจารณ์เหล่านั้นไม่ใช่การ “ติเพื่อก่อ” แต่เป็นแนวด่าทอ บูลลี่ โจมตีให้เกิดความเสียหาย เมื่อใจเขาใจเราดู เราก็อาจไม่ทนเหมือนกัน ฉะนั้น คงไม่คุ้มเท่าไร หากจะโดนฟ้องเพราะเรื่องแบบนี้

สนับสนุนหรือคัดค้าน ก็โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง
คนกลุ่มนี้เป็นคนที่ “โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง” ไม่ว่าเขาจะออกมาสนับสนุนหรือออกมาคัดค้าน เขาก็จะโดนอีกฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามโจมตีอยู่แล้ว (เลือกที่จะเงียบยังโดน) ถ้าลองมองในมุมนั้น เราอาจเลือกโดนคนที่ไม่ชอบเราอยู่แล้วโจมตี ดีกว่ายอมโดนคนที่ชอบเราอยู่โจมตี ส่วนใครที่ชอบอยู่แล้วจะพิจารณาใหม่เป็นไม่ชอบก็เป็นสิทธิ์ของเขา

ถึงอย่างนั้น ผู้เขียนก็ไม่ได้ห้ามว่าไม่ให้ใครแบนใคร เพราะมันคือความพอใจส่วนตัว สำหรับตัวผู้เขียนเองก็มีคนที่ “เคยชอบ” แต่ด้วยเหตุผลบางอย่างที่รับไม่ได้ ก็ทำให้พยายามเลิกชอบ และเลิกติดตามไป (ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย) แต่สิ่งที่ผู้เขียนทำ มีเพียงทักไปหาเพื่อนที่ตกอยู่ในสภาพหัวอกเดียวกัน ระบายความรู้สึกผิดหวังให้เพื่อนฟัง จากนั้นก็มากด unfollow ไปเงียบ ๆ เท่านั้นก็จบแล้ว

ก่อนที่จะทำอะไร อยากให้ทุกคนได้มองสองด้าน เอาใจเขามาใส่ใจเราให้มากขึ้น คำนึงไว้เสมอว่าทุกคนต้องทำมาหากิน การเลือกที่จะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรคงเป็นสิ่งที่เขาพิจารณาดีแล้ว เพราะธรรมชาติของมนุษย์ รักตัวเองมากที่สุด ถ้าเขาจะเซฟความปลอดภัยในชีวิตตังเองก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร และที่เราจะไม่พอใจเขาก็ไม่ผิดอะไรเช่นกัน เราเป็นคนคาดหวังในสิ่งที่เขาให้เราไม่ได้เอง เพียงแต่ไม่จำเป็นต้องแสดงออกในเชิงประจาน

จิตใจมนุษย์ยากแท้หยั่งถึง เบื้องหน้าที่เห็นเป็นอย่าง เบื้องหลังอาจตรงข้าม ในเมื่อเรามีสิทธิ์เท่ากัน หากอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ต้องไม่ลืมว่าไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมเสียสละเพื่อสังคม จึงควรเคารพความเห็นซึ่งกันและกัน ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปบังคับ กดดัน หรือโจมตีใครให้คิดแบบเรา คงง่ายกว่าถ้าเราจัดการที่ตัวเราเอง ไม่ใช่ไปละเมิดสิทธิใครเขา

ที่มา:

ไอทีจีเนียส เอ็นจิเนียริ่ง (IT Genius Engineering) ให้บริการด้านไอทีครบวงจร ทั้งงานด้านการอบรม (Training) สัมมนา รับงานเขียนโปรแกรม เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น งานออกแบบกราฟิก และงานด้าน E-Marketing ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ทั้ง SEO , PPC , และ Social media marketting

ติดต่อเราเพื่อสอบถามผลิตภัณฑ์ ขอราคา หรือปรึกษาเรื่องไอที ได้เลยค่ะ

Line : @itgenius (มี @ ด้านหน้า) หรือ https://lin.ee/xoFlBFe
Facebook : https://www.facebook.com/itgeniusonline
Tel : 02-570-8449 มือถือ 088-807-9770 และ 092-841-7931
Email : contact@itgenius.co.th

แนะนำหลักสูตรอบรมที่น่าสนใจ

user
โดย เอ็นโอไอ ไอทีจีเนียส
เข้าชม 869 ครั้ง

คำค้นหา : โลกออนไลน์การคว่ำบาตรทวิตเตอร์เสพดราม่าแฮชแท็กล่าแม่มดศาสนาคริสต์ทัวร์ลงunfollowfollowโซเชียลมีเดียเลิกติดตามพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์บูลลี่